คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองในแต่ละครั้งที่จำเลยมาพักที่บ้านของ ป. เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองคนละวันเวลาต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายทั้งสองไว้จนไม่สามารถไปไหนได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
โจทก์บรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน รวม 10 ครั้ง อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ซึ่งศาลสามารถลงโทษจำเลยได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง บ. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 8 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน รวม 10 ครั้ง โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 7 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน รวม 10 ครั้ง โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม เหตุเกิดที่ตำบลเสาธง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 20 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 70 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 7 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยที่กระทำชำเราเด็กหญิง บ. ผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละครั้งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 8 ปีเศษ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 อายุ 7 ปีเศษ ผู้เสียหายทั้งสองมิได้เป็นภริยาของจำเลย ผู้เสียหายทั้งสองพักอาศัยกับนางประเสริฐ ยาสดม พี่สาวของจำเลย จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2547 เวลากลางคืน โดยจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองเป็นเวลา 10 วัน รวม 10 ครั้ง ในขณะที่จำเลยมาพักอาศัยที่บ้านของนางประเสริฐและนอนในมุ้งเดียวกับผู้เสียหายทั้งสองโดยผู้เสียหายทั้งสองไม่ยินยอม เห็นว่า การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองในแต่ละครั้งที่จำเลยมาพักที่บ้านของนางประเสริฐเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองคนละวันเวลาต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายทั้งสองไว้จนไม่สามารถไปไหนได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสองวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน รวม 10 ครั้ง อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ซึ่งศาลสามารถลงโทษจำเลยได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share