คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3794/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องเกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมโยงต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือแหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีนี้จะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขนขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้แก่ผู้นำเข้าหรือนำสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ เป็นการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟคือการรับขนส่งสินค้าตามมาตรา 6 (2) และ มาตรา 9 (7) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทยฯ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และ มาตรา 225 วรรคสอง
โจทก์เป็นผู้รับเหมาสัมปทานเข้าดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดให้แก่จำเลยที่ 1 แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทาน โดยเข้าใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย เมื่อสถานีดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีอำนาจฟ้องศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นมิได้เป็นผู้รับเงินค่าภาษีจากโจทก์ ทั้งการแจ้งประเมินและการแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) ฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 และคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.10) ฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2545 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 3,990,616.89 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ทำสัญญาสัมปทานดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องดังกล่าวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเสียค่าตอบแทนให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในการเสนอประมูล กับต้องชำระค่าภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบกิจการต้องชำระตามกฎหมายแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งรวมถึงจำนวนเงินที่ต้องรับผิดชอบสำหรับภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินใดๆ ของสถานี และต้องประกันวินาศภัยโรงเรือนที่ได้รับสัมปทานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 81 และคำแปลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 82 ถึงแผ่นที่ 128 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 เจ้าพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตลาดกระบังของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 ของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ได้รับสัมปทาน โดยประเมินค่ารายปีจากค่าธรรมเนียมที่โจทก์ชำระให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยในปี 2543 รวมกับค่าเบี้ยประกันภัย และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์จะต้องชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทานคูณด้วย 8 แล้วหารด้วย 7 ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรและคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวนตามฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าโจทก์หมดสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ได้ตามมาตรา 26 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9(2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งการรถไฟขึ้น เรียกว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้…(2) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่างๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง…(7) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เชิญผู้สนใจยื่นประกวดข้อเสนอเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบังสถานี A ถึง F เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20 ถึง 33 และสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 34 ถึง 81 และคำแปลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 82 ถึง 128 แล้วจะเห็นได้ว่าการดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้เกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีนี้จะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขนขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้แก่ผู้นำเข้าหรือนำสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้ จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟคือ การรับขนส่งสินค้าตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 9 (7) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ดังนั้น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินของเจ้าพนักงานเก็บภาษี สำนักงานเขตลาดกระบังของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางและโจทก์มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 225 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับสัมปทานเข้าดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดให้แก่จำเลยที่ 1 แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทานโดยเข้าใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าสถานีดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีอำนาจฟ้องศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นมิได้เป็นผู้รับเงินค่าภาษีจากโจทก์ ทั้งการแจ้งประเมินและการแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยเป็นดังนี้แล้วอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ตนได้ชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ได้เท่าจำนวนตามคำฟ้องเท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานเก็บภาษี สำนักงานเขตลาดกระบังของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2545 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีจำนวน 3,990,616.89 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่ฟังคำพิพากษา หากไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share