แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องแย้งเรียกเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย ค่าเสียหายหรือค่าเก็บรักษาสินค้าซึ่งล้วนเป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามคำพรรณนาซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504 เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเครื่องจักร 1 เครื่องจากโจทก์เป็นเงิน15,743 ดอยซ์มาร์ค ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2528 จำเลยทั้งสองรับเครื่องจักรไปจากโจทก์ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมชำระเงินที่ยังค้างอยู่ 8,000 ดอยซ์มาร์ค ให้โจทก์โจทก์ก็มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระแต่จำเลยทั้งสองผัดผ่อนเรื่อยมา และมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 10,396.71 ดอยซ์มาร์ค หรือเท่ากับ 134,637.39 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ในต้นเงิน 8,000ดอยซ์มาร์ค หรือ 103,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม2527 จำเลยสั่งซื้อเครื่องจักรเก่ายี่ห้อเรียลเมคารุ่นแบบบีอาร์ 250 ตามตัวอย่างในแคตตาล็อกจากโจทก์ ซึ่งโจทก์เสนอขายในราคา 15,743 ดอยซ์มาร์ค จำเลยชำระเงินล่วงหน้า7,743 ดอยซ์มาร์ค แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2528เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจรับสินค้าที่ท่าเรือพบว่า เครื่องจักรที่โจทก์ส่งมาเป็นรุ่นแบบบีอาร์ 200 ไม่ตรงกับใบกำกับสินค้าจำเลยจึงต้องเสียเงินค่าประกันสินค้าให้กับกรมศุลกากร 24,654.46บาท เพื่อนำเครื่องจักรดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ มิฉะนั้นเครื่องจักรดังกล่าวจะถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าจนกว่าจะส่งมอบใบกำกับสินค้าที่ถูกต้องมาให้ ซึ่งจะต้องมีพิธีการอีกมากอาจทำให้โจทก์และจำเลยเสียหาย หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อนำสินค้าหรือปรับราคาสินค้าให้ตรงกับราคาที่แท้จริงและโจทก์ให้เจ้าหน้าที่หอการค้าเยอรมัน-ไทย ตรวจสอบอีกครั้ง ก็ได้ผลเป็นรุ่นแบบ บีอาร์ 200ไม่ใช่ 250 ตามที่ตกลงซื้อขาย จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องหรือคิดค่าเสียหายจากจำเลยคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่โจทก์ส่งเครื่องจักรผิดข้อตกลงทำให้จำเลยเสียหายต้องเสียค่าปรับที่กรมศุลกากรและผิดสัญญากับบุคคลภายนอก เนื่องจากไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อได้ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ให้คืนเงิน 7,743 ดอยซ์มาร์ค หรือ 100,271.85 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2527จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และคืนเงินค่าปรับ 24,654.46 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยต้องผิดสัญญากับบุคคลภายนอกเป็นเงิน 50,000 บาทกับค่าเก็บรักษาเครื่องจักรที่จำเลยเก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันที่2 มีนาคม 2528 ถึงวันฟ้อง ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา1 ปี 10 เดือน เป็นเงิน 110,000 บาท จนกว่าโจทก์จะรับสินค้าคืนไปจากจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วเพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า คือวันที่2 มีนาคม 2528
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การซื้อขายเครื่องจักรระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับเครื่องจักรวันที่ 2 มีนาคม 2528 ฟ้องแย้งวันที่ 28 มกราคม 2530 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504บัญญัติว่า ในข้อรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามตัวอย่างหรือไม่ตรงตามคำพรรณนานั้น ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟ้องแย้งเรียกเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยก็ดี ค่าเสียหายก็ดี หรือค่าเก็บรักษาสินค้าก็ดี ล้วนเป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามคำพรรณนาซึ่งเป็นกรณีที่ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ การที่จำเลยฟ้องแย้งคดีนี้เมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ”
พิพากษายืน