แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บุคคลภายนอกทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือนส่งใช้หนี้แก่จำเลย มีผลเท่ากับมอบอำนาจให้จำเลยรับเงินเดือนแทน ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลย เพราะสิทธิรับเงินเดือนของข้าราชการโอนกันไม่ได้ โจทก์จึงขออายัดเงินตามหนังสือยินยอมดังกล่าวไม่ได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,070,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี
ระหว่างการบังคับคดีโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายอายัดเงินของจำเลยโดยโจทก์สืบทราบมาว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้นางสุจริต และนางสุจริตได้ทำหนังสือยินยอมให้กองคลังสำนักพระราชวังหักเงินเดือนของตนส่งชดใช้หนี้ให้แก่จำเลย โดยยังคงเหลือเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับอีก 32,800 บาท ซึ่งจะต้องหักไว้ทุก ๆ เดือน เดือนละ1,200 บาท จนครบ โจทก์ได้เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้วแต่ถูกยกคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายอายัดเงินจำนวนดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นางสุจริตทำหนังสือยินยอมให้กองคลัง สำนักงานพระราชวัง หักเงินเดือนของตนส่งชดใช้หนี้ให้แก่จำเลยนั้นมีผลเท่ากับนางสุจริตมอบอำนาจให้จำเลยรับเงินเดือนแทนตนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลย เพราะสิทธิที่จะรับเงินเดือนของข้าราชการนั้นโอนกันไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ย่อมจะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.