คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตารางกรมธรรม์และสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยเองด้วยนั้น เป็นเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยทั่วไปซึ่งกรมการประกันภัยพิจารณาให้บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยเช่นนั้น หากกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3 มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นแตกต่างจากแบบของกรมการประกันภัย จำเลยที่ 3 ก็น่าที่จะนำสืบเข้ามาเพราะตามปกติกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ย่อมมีอยู่ที่จำเลยที่ 3 ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่คุ้มครองความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ จำเลยที่ 3 น่าจะนำสืบเข้ามาเพราะนำสืบได้ง่ายและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้อ้างส่งต่อศาล กลับอ้างตามคำแก้ฎีกาว่าเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะนำสืบ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ 3 และพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังวินิจฉัยมาเป็นเช่นนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 นั้น ชอบด้วยความเป็นธรรมตามรูปคดีนี้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหาย 254,700 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 242,573 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 254,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 242,573 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 เป็นการยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยหมวดที่ 2 การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกข้อ 2.8 (ที่ถูก ข้อ 2.6) ของโจทก์ ซึ่งย่อมเหมือนกันกับของจำเลยที่ 3 เพราะออกโดยกรมการประกันภัยและเป็นเงื่อนไขที่ใช้โดยทั่วไป มีว่า การคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับรถยนต์ ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ย่อมถือเสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยเอง จำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปในทางการที่ว่าจ้างหรือที่ได้รับมอบหมาย สั่งการ จ้าง วาน ใช้ จากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ควบคุมดูแลรถที่จำเลยที่ 1 ขับ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังเป็นนายจ้าง สั่งการ จ้าง วาน ใช้ ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จนกระทั่งเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ 500 บาทนั้น เห็นได้ว่า นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยเองด้วย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ก็ยังจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ ข้อนี้จำเลยที่ 3 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะนายจ้างหรือตัวการหรือลูกจ้างหรือตัวแทน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย และให้การว่าจำเลยที่ 3 จำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ข้อ 2.3 ความรับผิดต่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกิน 250,000 บาท เท่านั้น ไม่ได้ให้การว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดสำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์จำเลยที่ 2 ไปขับ จำเลยที่ 3 ก็มิได้โต้แย้ง ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์จำเลยที่ 2 ไปขับ การยืมไปขับเป็นการขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 นั่นเอง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นฝ่ายจำเลยทั้งสามยังเสนอค่าเสียหายแก่โจทก์ถึง 200,000 บาท สำหรับตารางกรมธรรม์และสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยนั้นเป็นเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยทั่วไป ซึ่งกรมการประกันภัยพิจารณาให้บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยเช่นนั้น หากกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3 มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นแตกต่างจากแบบของกรมการประกันภัย จำเลยที่ 3 ก็น่าที่จะนำสืบเข้ามา เพราะตามปกติกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ย่อมมีอยู่ที่จำเลยที่ 3 ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่คุ้มครองความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ จำเลยที่ 3 น่าจะนำสืบเข้ามาเพราะนำสืบได้ง่ายและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อ จำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้อ้างส่งต่อศาลกลับอ้างตามคำแก้ฎีกาว่าเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะนำสืบ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ 3 และพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังวินิจฉัยมาเป็นเช่นนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 นั้น ชอบด้วยความเป็นธรรมตามรูปคดีนี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท

Share