คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินยังเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนภายหลังจากจำเลยทั้งสองผิดนัดหรือไม่เพียงใดดังนั้นในชั้นนี้หนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินจึงยังไม่เป็นหนี้ที่สามารถกำหนด จำนวนที่แน่นอนได้ โจทก์จะนำมารวมเป็นหนี้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นอาจารย์ระดับ 7 มีเงินเดือน ๆ ละ 14,070 บาทและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินราคาประมาณ 1,300,000 บาท แม้จะติดจำนองสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 800,000 บาท แต่ราคาที่ดินก็ยังสูงกว่าหนี้จำนองที่มีอยู่ ดังนั้นหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อโจทก์เพียง 200,000 บาท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ในคดีเดิมที่โจทก์จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้เพียง 337,500 บาท และดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 692 ราคาทั้งแปลง 12,000,000 บาทและโจทก์รับโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์เป็นเงินอีก 700,000 บาท แต่มูลค่าของราคาที่ดินที่โจทก์ได้รับเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยในจำนวนที่สูงกว่าหนี้เดิมมากอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว นับได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 1ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 1873/2530 จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน 1,950,000 บาทขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 692 ตำบลออเงินใหญ่ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 ไร่ ที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในใบมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งโจทก์ไปขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 แล้ว ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวราคาไร่ละ 1,200,000 บาท โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองคิดเป็นเงิน 12,000,000 บาทสูงกว่าจำนวนเงินที่จำนองมากและโจทก์ขายหน้าดินของที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้เงินหลายแสนบาทจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาพรานนก ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เจรจาตกลงกับโจทก์เกี่ยวกับหนี้สินทั้งหมด และปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหนี้สินค้างชำระแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อันกำหนดจำนวนได้แน่นอนมีเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองยังต้องรับผิดในหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ชำระไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 จำนวน 950,005 บาทและหนี้ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้เนื่องจากผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอีก 200,000 บาท รวม 1,150,005 บาท นั้น เห็นว่า สำหรับหนี้ค่าเสียหาย 200,000 บาทตามสัญญาที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้แก่โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา จึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน200,000 บาท แก่โจทก์ สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปโอนที่ดินหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วเกือบสิบปี ซึ่งขณะโอนราคาที่ดินทั้งแปลงตามราคาประเมินสูงขึ้นถึง 12 ล้านบาท ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ต่อสู้ว่าหากโจทก์รีบจัดการโอนที่ดินเสียตอนแรก ราคาที่ดินในขณะนั้นมีราคาเพียง 1 ล้านบาทเศษ ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนก็จะไม่สูงตามที่โจทก์เสียไป นอกจากนี้ศาลเห็นว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อ 1 ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองยินยอมจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนแทนโจทก์โดยจะไปโอนภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา และในสัญญาข้อ 5 ที่ระบุว่าหากจำเลยผิดสัญญาตามข้อ 1 จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทนั้น ก็ยังเป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ไปโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาหรือโจทก์จะได้รับเพียงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท จากจำเลย ดังนั้น ในชั้นนี้หนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินที่โจทก์ขอมาจึงยังไม่เป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ โจทก์จะนำมารวมเป็นหนี้เพื่อนำมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายหาได้ไม่ ดังนั้น คดีคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้อันอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนเป็นจำนวน 200,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุสมควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น รับราชการเป็นอาจารย์ระดับ 7 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเงินเดือนเดือนละ 14,070 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 111225 ตำบลหลักสอง อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครราคาประมาณ 1,300,000 บาท แม้จะติดจำนองสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด จำนวน 800,000 บาท แต่ราคาที่ดินก็ยังสูงกว่าหนี้จำนองที่มีอยู่ ดังนั้นหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อโจทก์เพียง 200,000 บาท จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นได้ความว่าหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 แล้วจำเลยที่ 1 ได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2530 ตลอดมาจนปัจจุบันไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีเดิมที่โจทก์จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้เพียง337,500 บาท และดอกเบี้ยตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 692 ตำบลออกเงินใหญ่ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่โจทก์ ซึ่งมีราคาตามหนังสือรับรองการประเมินลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ตารางวาละ3,000 บาท หรือราคาทั้งแปลง 12,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ได้โอนที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์เป็นเงินอีก 700,000 บาท แต่มูลค่าของราคาที่ดินที่โจทก์ได้รับเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยในจำนวนที่สูงกว่าหนี้เดิมมากอันเป็นผลประโยชน์แก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว นับได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share