คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ที่ดินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท 2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง
โจทก์นำเงินของโจทก์ไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสองว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสรถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538โจทก์จำเลยอยู่กันที่บ้านเลขที่ 35/2 ซึ่งเป็นบ้านบิดามารดาโจทก์ ระหว่างอยู่กินไม่มีบุตรด้วยกันและมีสินสมรสเป็นที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 80253 และที่ดินโฉนดเลขที่ 80354 จำนวนเนื้อที่แปลงละ 17 ตารางวา ต่อมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2539จำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จำเลยกระทำการทรมานจิตใจหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง โดยนำความเท็จไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา คือจำเลยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพญาไท กล่าวหาว่าโจทก์ใช้กำลังประทุษร้าย ใส่กุญแจข้อมือจำเลยทั้งสองข้างและใช้เทียนไขหยดน้ำตาเทียนลงบนร่างกายของจำเลยหลายแห่งขณะจำเลยอยู่ในสภาพเปลือยเปล่า จนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับบาดเจ็บพุพองตามร่างกายหลายแห่ง กล่าวหาว่าโจทก์ใช้กำลังตบตีทำร้ายร่างกายและบังคับข่มขืนใจให้จำเลยยืนเปลือยกายอยู่หน้าเครื่องปรับอากาศเป็นเวลา 7 ชั่วโมงกล่าวหาว่าโจทก์บังคับขืนใจให้จำเลยเปลื้องผ้าขณะนั่งอยู่ในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ที่บริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว และกล่าวหาว่าโจทก์พกพาอาวุธปืนขนาด .38 ซึ่งเป็นอาวุธของโจทก์ติดตัวไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กับแจ้งข้อหาอื่นอีก 3 กระทงซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา นอกจากนี้จำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์ที่สถานีตำรวจภูธรศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยกล่าวหาว่าโจทก์ใช้อาวุธปืนพยายามฆ่าจำเลยจนทำให้โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหา อีกทั้งจำเลยยังหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับกล่าวหาว่าครอบครัวโจทก์เป็นครอบครัวชั่วช้าเลวทราม อยู่ในครอบครัวของโจทก์เหมือนตกอยู่ในขุมนรก โจทก์เป็นคนกักขฬะอันเป็นการดูถูกหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ไม่สามารถอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยได้ โจทก์ได้บอกกล่าวขอหย่าและแบ่งสินสมรสกับจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยินยอม โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 80353 และเลขที่80354 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหรือหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชำระราคาเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยอมรับว่าได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์และอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่บ้านบิดามารดาของโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตัวเป็นสามีที่ดี ไม่รับผิดชอบในการอุปการะเลี้ยงดูจำเลย ไม่ยกย่องให้เกียรติจำเลยในฐานะภริยา ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยตลอดมา ที่ดินสองแปลงที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้นความจริงแล้วเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่รับการยกให้จากนางสุกัญญา นาควิเชียรเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 โดยจำเลยเป็นเจ้าของรวมกับนายวุฒิชัย จตุทอง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 80358 ต่อมาเมื่อนางนวลนิตย์ จตุทอง มารดาจำเลยมีความประสงค์จะสร้างอาคารอพาร์ตเมนต์บนที่ดินดังกล่าวเพื่อให้คนเช่าอาศัย จึงได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 80358 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่นางนวลนิตย์แล้ว นางสาวนิรมล จตุทอง พี่สาวจำเลยได้โอนที่ดินสองแปลง โฉนดเลขที่ 80353 และ80354 รวมเนื้อที่ 34 ตารางวา ให้แก่จำเลยโดยทำเป็นสัญญาซื้อขาย แต่ความจริงแล้วไม่มีการชำระราคาที่ดินกัน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง นอกจากนี้จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยประพฤติตนอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ไม่เคยดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์โดยการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าครอบครัวของโจทก์เป็นครอบครัววิปริตชั่วเลวทราม แต่จำเลยยอมรับว่าเคยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโจทก์ได้ใช้กำลังประทุษร้ายและทรมานจำเลยตามคำฟ้องจริง จำเลยได้ยื่นฟ้องหย่ากับโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไป จำเลยขอฟ้องแย้งว่าระหว่างอยู่กินกับโจทก์ โจทก์ไม่เคยประกอบอาชีพใดและไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูจำเลย ระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยามีทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสร่วมกันคือรถยนต์จี๊ปเชโรกี หมายเลขทะเบียน 1 ษ – 5225 กรุงเทพมหานคร ราคาประมาณ 500,000 บาท รถยนต์วอลโว่ รุ่น 960 หมายเลขทะเบียน 6 ษ – 5797กรุงเทพมหานคร ราคาประมาณ 1,500,000 บาท และกล้องถ่ายรูปไลก้า 1 กล้องพร้อมอุปกรณ์ราคาประมาณ 200,000 บาท นอกจากนี้ยังมีของหมั้นคือ แหวนเพชร1 วง ราคาประมาณ 250,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคาประมาณ 10,000บาท ซึ่งฝ่ายโจทก์มอบให้แก่จำเลย แต่โจทก์เก็บไว้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนให้จำเลยขอให้บังคับโจทก์แบ่งสินสมรสให้แก่จำเลยครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 1,100,000 บาท และคืนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นให้แก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนคิดเป็นเงิน 310,000บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งจำเลยเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 984/2539 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีดังกล่าวจำเลยฟ้องหย่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ขอแบ่งสินสมรส ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นความเท็จทั้งสิ้น รถยนต์จี๊ปและรถยนต์วอลโว่ไม่ใช่สินสมรส บิดามารดาโจทก์เป็นผู้ผ่อนชำระเพียงแต่ยืมชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองแทน บิดามารดาโจทก์ได้ขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จี๊ป ให้แก่บุคคลภายนอกก่อนที่จำเลยจะหนีออกไปจากบ้านโจทก์ ส่วนกล้องถ่ายรูปไลก้าไม่มีทรัพย์สินนี้แต่อย่างใด รถยนต์วอลโว่ปัจจุบันบิดามารดาโจทก์ยังเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นตามฟ้องแย้งเป็นความเท็จ โจทก์ไม่เคยนำมาจากจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนให้ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งพิพากษาให้โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6 ษ-5797 กรุงเทพมหานครให้จำเลยครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินสินสมรสจำนวน 928,211.83 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปี 2538 ต่อมาเมื่อปี 2540 จำเลยได้ฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก่อนที่โจทก์จะฟ้องหย่าขอหย่าจากจำเลยในคดีนี้ และคดีดังกล่าวนั้นคู่ความตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมหย่าขาดจากกันและศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า คำฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าคดีทั้งสองเป็นคู่ความเดียวกันและฟ้องหย่าเหมือนกัน จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสก็เกี่ยวกับการฟ้องหย่า จึงมีมูลคดีเดียวกันที่จำเลยจะต้องฟ้องไปพร้อมกับคดีที่จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เห็นว่า ประเด็นเรื่องฟ้องหย่านั้นในคดีที่จำเลยเป็นฝ่ายฟ้องหย่า คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมหย่าขาดจากกันและศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมจนคดีถึงที่สุด และในคดีนี้คู่ความได้ตกลงสละประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องหย่าในคดีนี้ คงมีข้อพิจารณาเรื่องคำฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสว่าเป็นมูลคดีเดียวกันที่จำเลยจะต้องฟ้องไปพร้อมกับคดีที่จำเลยเป็นฝ่ายฟ้องขอหย่าหรือไม่เห็นว่า ประเด็นในการฟ้องหย่ามีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกัน แม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่า แต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ นอกจากนี้ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่าดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ฟ้องแย้งของจำเลยขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 80353 และ 80354เอกสารหมาย จ.3 จ.4 และรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสหรือไม่ สำหรับที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว โจทก์มีพลตรีปัญญา วิวัฒนชาต และนางสุรัชนา วิวัฒนชาต บิดามารดาของโจทก์มาเบิกความว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว มารดาจำเลยเป็นผู้บอกขาย บิดามารดาโจทก์จึงรับซื้อไว้โดยตั้งใจยกให้เป็นสินสมรสแก่โจทก์และจำเลย แต่ในวันทำการโอนกลับมีการใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเพราะในวันดังกล่าวตัวโจทก์ป่วยจึงไม่ได้ไปร่วมรับโอนด้วยฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยและมารดาจำเลยมานำสืบว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยโดยมีความเป็นมาว่าที่ดินทั้งสองแปลงเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 27832 เอกสารหมาย ล.20 ซึ่งนางเพ็ง แซ่ตัน ยายจำเลยซื้อจากผู้อื่นเพื่อแบ่งให้แก่บุตรทุกคน ในชั้นแรกได้ใส่ชื่อนางสาวสุกัญญาน้าจำเลยเป็นผู้ถือครอง ครั้นปี2519 จึงได้มีการตกลงแบ่งแยกโฉนดเป็นหลายแปลง มารดาจำเลยได้สิทธิมารวม 5แปลง คือโฉนดเลขที่ 80353, 80354, 80355, 80356 และ 80358 ตามเอกสารหมาย ล.21 ถึง ล.25 ซึ่งมารดาจำเลยได้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือครองที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 ร่วมกับนายวุฒิชัย จตุทอง ผู้เป็นพี่ชายจำเลย ส่วนอีก4 แปลงได้ใส่ชื่อเป็นของเด็กหญิงนิรมล จตุทอง พี่สาวจำเลย ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน2538 มารดาจำเลยได้นำโฉนดเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 ไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อกู้เงินมาทำธุรกิจสร้างอพาร์ตเมนต์ให้คนเช่าบนที่ดินแปลงดังกล่าวหลังจำเลยแต่งงานอยู่กินกับโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมาเรียกร้องให้มารดาจำเลยจ่ายค่าผลประโยชน์ เฉพาะโจทก์ยังมาทำการข่มขู่หลายครั้ง บางครั้งยังกล่าวหาว่ามารดาจำเลยโกงจำเลย มารดาจำเลยเกรงจะเกิดปัญหาจึงประสงค์จะถอนชื่อจำเลยจากโฉนดที่ดินเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 แต่เมื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของธนาคารเจ้าหนี้แล้วได้รับคำแนะนำว่าให้ทำนิติกรรมอำพรางเป็นการซื้อขายแทนการแลกเปลี่ยน จึงได้มีการดำเนินการตามที่ได้รับคำแนะนำโดยไม่มีการชำระเงินกันจริง เห็นว่า จำเลยนำสืบถึงความเป็นมาของที่ดินอย่างเป็นเรื่องราวและมีหลักฐานเมื่อพิจารณาประกอบสัญญาขายที่ดิน 2 ฉบับ เกี่ยวกับที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งทำการโอนกันในวันเดียวกัน คือวันที่ 25มิถุนายน 2539 แล้ว กรณีมีเหตุน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบ คือ เป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 80358 ที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ทั้งนี้ ตามนัยแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1427 วรรคหนึ่ง….. ส่วนเรื่องรถยนต์วอลโว่ตามที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น โจทก์มีบิดามารดาโจทก์มาเบิกความถึงเรื่องราวความเป็นมาว่า ก่อนโจทก์จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลย บิดาโจทก์ได้ซื้อรถยนต์มิตซูบิชิให้โจทก์ไว้ใช้ขับไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายหลังโจทก์ได้ขายรถคันดังกล่าวไป แล้วนำเงินที่ขายได้ไปวางเงินดาวน์เป็นค่าเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกีโดยมารดาโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและผ่อนชำระค่างวด ตามเอกสารหมาย จ.5 เพราะโจทก์ยังไม่มีงานทำ ต่อมาโจทก์ขับรถคันดังกล่าวไปประสบอุบัติเหตุ เมื่อซ่อมแล้วจึงได้ขายต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2539 แล้วนำเงินที่ขายได้กับที่โจทก์ได้รับการคืนเงินจากการซื้อที่ดินที่จังหวัดสระบุรีจำนวน 250,000 บาท ไปวางเป็นเงินดาวน์ ค่าเช่าซื้อรถยนต์วอลโว่ เงินดังกล่าวบิดามารดาโจทก์มอบให้โจทก์ก่อนที่โจทก์จะพบกับจำเลยจำนวน 500,000 บาท โดยเงินอีกครึ่งหนึ่งโจทก์นำไปซื้อแหวนหมั้นให้กับจำเลย ส่วนผู้ชำระค่างวดและค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์วอลโว่คงเป็นมารดาโจทก์เช่นเดิม ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความว่า เป็นผู้ซื้อรถจี๊ปเซโรกีตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายล.14 และจะเป็นผู้ผ่อนชำระค่างวดปัจจุบันทางบริษัทให้ผู้เช่าซื้อได้ฟ้องโจทก์และจำเลยให้ชำระราคารถจี๊ปเซโรกีดังกล่าว เห็นว่า นอกจากเหตุผลดังที่ศาลล่างทั้งสองได้กล่าวแล้วโดยมีหลักฐานตามที่จำเลยอ้างส่งหาใช่สันนิษฐานเอาเองไม่ จากหลักฐานตามบัญชีธนาคารที่โจทก์จำเลยเปิดร่วมกันตามเอกสารหมาย ล.17 ปรากฏมีรายการถอนเงินจากบัญชีจ่ายเมื่อสิ้นเดือนตามจำนวนที่ใกล้เคียงกับค่างวดรวม 3 งวด ถือได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมชำระค่าเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกี ทั้งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ และรถจี๊ปเซโรกีเช่าซื้อมาในระหว่างสมรสแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นอีกว่า บิดามารดาโจทก์มาเบิกความเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกีแต่เพียงลอย ๆ ที่สำคัญคือบิดาโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่ามารดาโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและชำระค่าเช่าซื้อรถจี๊ปคันดังกล่าวต่อเมื่อทนายจำเลยนำหลักฐานมาถามค้านจึงได้ยอมรับว่าความจริงแล้ว ผู้ค้ำประกันคือจำเลย ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนมารดาโจทก์ก็เบิกความเพียงว่าโจทก์ขายรถยนต์มิตซูบิชิแล้วไปดาวน์รถจี๊ป จำนวน 300,000 บาท ผ่อนชำระอีกเดือนละ 27,000บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่มีรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ค้ำประกัน และใครเป็นผู้ชำระค่างวดอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ในประการนี้จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์ว่าโจทก์นำเงินที่ขายรถจี๊ปเซโรกีไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง ว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส รถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่ชอบเพราะพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแทนการนำรถยนต์วอลโว่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยมิได้เป็นฝ่ายอุทธรณ์ เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งเมื่อรับฟังว่ารถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง แม้จะปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไป 1,856,423.66 บาท แต่จำเลยเรียกร้องมูลค่ารถยนต์เพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า 1,500,000 บาท จึงเห็นควรใช้ราคาตามคำขอที่จำเลยฟ้องแย้งเป็นเกณฑ์ เมื่อแบ่งกันคนละครึ่งแล้ว ส่วนของจำเลยจึงคิดเป็นเงินจำนวน 750,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งสินสมรสรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6 ษ-5797กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันให้นำรถยนต์คันดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำรถยนต์มาแบ่งกันได้ให้โจทก์คืนสินสมรสส่วนนี้เป็นเงิน 750,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share