คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3784/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบดีว่า สำนักงานสาขาลำพูนของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินทุนดำเนินการ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้นำเงินค้ำประกันการเข้าทำงานของพนักงานมาจ่าย แต่จำเลยที่ 4 ก็ยังดำเนินการรับสมัครงานตลอดมา ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีงาน การรับสมัครพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 สาขาลำพูนดังกล่าวเป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้เงินประกันการเข้าทำงาน ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ยังคงดำเนินการให้การหลอกลวงนั้นบรรลุผล เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 กระทำผิด จำเลยที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๔ กับพวกอีกหลายคน ได้บังอาจหลอกลวงประชาชนด้วยวาจาและด้วยการโฆษณาแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะรับสมัครบุคคลเข้าทำงานกับจำเลย หากผู้ใดประสงค์จะทำงานก็ให้สมัครได้ที่สำนักงานสาขาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะรับสมัครบุคคลเข้าทำงานและไม่มีงานให้ทำแต่ประการใด แต่เป็นเพียงแผนการของจำเลยกับพวกที่จะหลอกลวงเอาเงินค้ำประกันจากประชาชนเท่านั้น และโดยการหลอกลวงดังกล่าวแล้วเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรวม ๑๘ คนกับพวกหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงมาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยกับพวกที่สำนักงานสาขาดังกล่าวและได้เสียเงินให้จำเลยกับพวก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓ และให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวน ๑๗๔,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ หนึ่งหมื่นบาท แม้จำเลยที่ ๑ จะให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ แต่โทษปรับตามกฎหมายน้อยอยู่แล้ว จึงไม่สมควรลดให้ สำหรับจำเลยที่ ๒ จำคุก ๔ ปี จำเลยที่ ๖ ให้การรับสารภาพ ให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๘ คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน สำหรับจำเลยที่ ๒ ลงโทษจำคุก ๓ ปี จำเลยที่ ๔ ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ข้อนำสืบของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒ ปี จำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด ๑ ปี ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน ๑๗๔,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๒ ลงโทษปรับเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงปรับ ๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓, ๘๖ ลงโทษจำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือน ข้อนำสืบของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ความรู้แก่ศาล ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๔ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ความว่า จำเลยที่ ๔ ทราบดีว่าที่สำนักงานสาขาลำพูนของบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีเงินทุนดำเนินงาน ทางสำนักงานใหญ่ไม่ส่งเงินไปให้เลย ค่าเช่าอาคารสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เช่น ค่าโต๊ะ เก้าอี้ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้นำเอาเงินค้ำประกันการเข้าทำงานของพนักงานมาใช้จ่ายทั้งสิ้น และทราบว่าจำเลยที่ ๒ เอาเงินดังกล่าวจากสาขาลำพูนไปด้วย แต่จำเลยที่ ๔ ก็ยังดำเนินการรับสมัครพนักงานตลอดมา ปรากฏว่าฐานะของจำเลยที่ ๑ สาขาลำพูนไม่ดี บัญชีรายจ่ายของสำนักงานก็ถูกจำเลยที่ ๔ สั่งให้ลบและแก้ไขบ่อย ๆ ในระยะหลัง ๆ นี้ ไม่มีเงินเหลือส่งเข้าสำนักงานใหญ่ หลังจากนางสาวอุบลพรรณ วรรณรัตน์ ผู้เสียหายคนหนึ่งสมัครเข้าทำงานแล้วสาขาลำพูนไม่มีงานให้ทำ นางสาวอุบลพรรณเคยถามจำเลยที่ ๔ ก็ได้รับคำตอบว่า ให้รอไปก่อนต่อไปคงมีงานทำ แต่ก็เห็นมีการรับสมัครพนักงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีงาน การรับสมัครพนักงานของบริษัทจำเลยที่ ๑ สาขาลำพูนดังกล่าว เป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้เงินประกันการเข้าทำงาน แต่จำเลยที่ ๔ ก็ยังคงดำเนินการให้การหลอกลวงนั้นบรรลุผล ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๔ ให้การช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในการกระทำผิดคดีนี้ จำเลยที่ ๔ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
พิพากษายืน.

Share