คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3783/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องอ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยบุกรุกแย่งการครอบครอง กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 20 เมตร หรือประมาณ 2.5 ตารางวา โดยโจทก์ตีราคาที่ดินพิพาทตารางวาละ 91,000 บาท และเสียค่าขึ้นศาลมาในจำนวนทุนทรัพย์ 227,500 บาท ก็ตาม แต่ตามแผนที่พิพาทที่ดินที่ทั้งสองฝ่ายพิพาทกันมีเนื้อที่เพียง 1.5 ตารางวา คิดเป็นเงิน 136,500 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นการโต้เถียงดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 เนื้อที่ 2 งาน 10 ตารางวา โดยซื้อมาจากนางสอน วรนุตร์ และนายพินัย วรนุตร์ ผู้จัดการมรดกของนางหยาด วรนุตร์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 5418 เนื้อที่ 15 ตารางวา โดยได้รับมรดกมาจากพันเอกสุพล ชุ่มภาณี ซึ่งเป็นบิดาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2531 ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 เดิมมีชื่อพันเอกสุพล และนางหยาดถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาพันเอกสุพลได้แบ่งแยกเฉพาะส่วนของพันเอกสุพลออกเป็นโฉนดที่ 5418 เมื่อ พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นพันเอกสุพลล้อมรั้วกั้นที่ดินส่วนของพันเอกสุพลและครอบครองเป็นส่วนสัดตลอดมา จนกระทั่งกลางเดือนเมษายน 2538 จำเลยทั้งสองได้รังวัดสอบเขตและล้อมรั้วที่ดินโฉนดที่ 5418 ขึ้นใหม่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 ของโจทก์หรือที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ซึ่งหากเป็นที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ซึ่งหากเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนดที่ 5418 ของจำเลยทั้งสองก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางหยาดโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว คิดเป็นเนื้อที่กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เมตร อันเป็นการบุกรุกและรบกวนการครอบครอง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองสร้างรั้วรุกล้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วสังกะสีที่สร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองล้อมรั้วตามแนวเขตที่ดินของจำเลย มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ นางหยาดไม่เคยครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสอง เดิมที่ดินของจำเลยทั้งสองไม่มีทางออก ต้องอาศัยที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 185และ 2077 ของนางหยาดเป็นทางเข้าออกนางหยาดจึงแบ่งขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 แก่จำเลยทั้งสองเพื่อขยายประตูใช้เป็นทางเข้าออก บิดาจำเลยทั้งสองไม่ล้อมรั้วคอนกรีตให้ชิดกับแนวเขตที่ดินที่ซื้อ เพราะเว้นไว้เป็นทางเดินซ่อมรั้วและปลูกต้นไม้ เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากนางหยาด โจทก์ได้ปิดทางดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ฟ้องให้เปิดทาง คดีตกลงกันได้โดยโจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสองใช้ทางอื่นเข้าออก จำเลยทั้งสองจึงทำรั้วสังกะสีตามแนวเขตที่ดินของจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทกลาง แนวเขตที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 5/10 ตารางวา (หนึ่งเศษห้าส่วนสิบตารางวา) ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.11

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.11 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสังกะสีที่สร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องอ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยทั้งสองบุกรุกแย่งการครอบครอง กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 20 เมตร หรือประมาณ 2.5 ตารางวา โดยโจทก์ตีราคาที่ดินพิพาทตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินตารางวาละ 91,000 บาท และโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาในจำนวนทุนทรัพย์ 227,500 บาท ก็ตาม แต่ตามแผนที่พิพาทซึ่งคู่ความรับรองว่าถูกต้องตามแผนที่พิพาทหมาย จ.11 นั้น ที่ดินทั้งสองฝ่ายโต้เถียงพิพาทกันมีเนื้อที่ เพียงหนึ่งตารางวากับอีกเศษห้าส่วนสิบตารางวา (1 5/10 ตารางวา) จำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ตารางวาละ 91,000 บาท รวมเป็นเงิน 136,500 บาท ฉะนั้นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีนี้ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นการโต้เถียงดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมด และคืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียเกินมาในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลที่จำเลยทั้งสองเสียเกินมาในศาลอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสอง

Share