คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 119,120,25 ดังนี้แม้ศาลจะใช้ มาตรา 120 เป็นบทลงโทษจำเลยก็ดี ก็เป็นเรื่องปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมาย เท่านั้นคดียังต้องฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม มาตรา 254 ซึ่งเป็นความอาญาอันเป็นเหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ.2479 ถ้ามีเหตุสมควรศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษกักกันจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจมีมีดเป็นศาตราวุธพกพาไปในถนนหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้มีดทำร้ายร่างกายพลตำรวจโดยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้ทำการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนคดีนี้จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาแล้ว 4 ครั้งตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง (เป็นโทษฐานลักทรัพย์ 2 ครั้ง รับของโจร 2 ครั้ง กับฐานทำร้ายร่างกาย) ซึ่งมิใช่เป็นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ พ้นโทษแล้วกลับมากระทำอาญาอันเป็นเหตุร้ายในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี ไม่เข็ดหลาบขอให้เพิ่มโทษ และลงโทษกักกันจำเลยด้วย

จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำผิดและเคยต้องโทษจริงดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 119, 120, 254 ให้ลงโทษตาม มาตรา 120 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 70 จำคุก 3 ปี เพิ่มตามมาตรา 72 ลดกึ่งตามมาตรา 59 คงจำคุก 2 ปี ลงโทษตามมาตรา 120 ไม่ใช่เหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย 2479 จึงไม่ลงโทษกักกัน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 335 ข้อ 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ปรับจำเลย 6 บาท เมื่อลดฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่งแล้วและให้ลงโทษกักกันจำเลย ตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 8, 9 เพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่ง มีกำหนด 3 ปี นอกนั้นคงยืน

จำเลยฎีกาคัดค้านเฉพาะที่ศาลลงโทษกักกัน

ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลงโทษกักกันจำเลยตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะกรณีเช่นนี้ต้องฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 254 ซึ่งเป็นความอาญาอันเป็นเหตุร้าย แม้ศาลจะใช้มาตรา 120 เป็นบทหนักลงโทษจำเลยก็เป็นเรื่องปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายเท่านั้น และเมื่อพิจารณาถึงข้อที่จำเลยเคยต้องโทษมาแล้วหลายครั้งตามใบแดงแจ้งโทษ รูปคดีสมควรจะลงโทษกักกันจำเลย

พิพากษายืน

Share