คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ให้ออกจากที่พักเพื่อไปพูดคุยกับจำเลยในเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์หลงเชื่อจึงไปกับจำเลย แต่จำเลยกลับขับรถยนต์พาโจทก์ไป และทำอนาจาร โจทก์ไม่ยินยอมและพยายามจะหนีลงจากรถยนต์ แต่จำเลยใช้มือดึง หน่วงเหนี่ยว กักขังโจทก์ไว้ในรถยนต์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายพร้อมทั้งข่มขู่ว่า หากไม่ยินยอมเข้าโรงแรมจะฆ่าให้ตาย โจทก์พยายามขัดขืนจนได้รับบาดเจ็บและขอร้องให้จำเลยหยุดทำร้ายและร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วย จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุและจับกุมตัวจำเลยไป และพาโจทก์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล และโรงพยาบาลเดชารวมนานประมาณ ๑๐ วัน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหากระทำอนาจารผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก ๑ ปี ๓ เดือนการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายให้โจทก์อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายบาดเจ็บ ทั้งเป็นการหน่วงเหนี่ยวให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท และทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์ไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้ลูกศิษย์เสื่อมศรัทธาและไม่เคารพนับถือเหมือนก่อน ทำให้วงศ์ตระกูลโจทก์เสียหาย ทำให้คนรักของโจทก์เกิดระหองระแหงรังเกียจ และทำให้โจทก์เสียสุขภาพจิต เนื่องจากความเครียดอันเป็นความเสียหายทางจิตใจต่อการมีครอบครัวในอนาคตโจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยให้การรับสารภาพในคดีอาญา เนื่องจากพนักงานอัยการแนะนำว่า หากจำเลยรับสารภาพ ศาลจะรอลงอาญาไว้ ทำให้จำเลยหลงเชื่อโดยสุจริต โดยไม่ได้แต่งทนายความและไม่มีโอกาสชี้แจงถึงมูลเหตุของคดีเพื่อให้ศาลประกอบการวินิจฉัย ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยถูกพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ๖๔๑๓/๒๕๓๘ในข้อหาอนาจาร ทำร้ายร่างกายและเสรีภาพซึ่งโจทก์คดีนี้เป็นผู้เสียหาย และได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วยในคดีส่วนอาญานี้คดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘, ๒๙๕, ๓๑๐ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกแต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ การกระทำของจำเลยในคดีส่วนอาญาดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ฉะนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๑๓/๒๕๓๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๖๖๗/๒๕๓๘ ของศาลอาญา ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุด การพิพากษาคดีนี้จำต้องถือตามว่า จำเลยได้กระทำอนาจารโจทก์ด้วยการจับแขนทั้งสองข้างของโจทก์ดึงเข้ามาเพื่อกอดจูบโดยโจทก์อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และใช้กำลังประทุษร้ายบีบคอโจทก์ ให้ยอมให้จำเลยกระทำอนาจารโจทก์ จนโจทก์มีเลือดออกจมูก และได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่งเป็นอันตรายแก่กาย และจำเลยได้หน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์โดยจำเลยใช้มือทั้งสองข้างดึงตัวและดึงผมของโจทก์ไว้ไม่ให้ลงจากรถยนต์ ทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘, ๒๙๕, ๓๑๐ วรรคแรกเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวนั้นจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ด้วย เหตุผลต่าง ๆ ที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาในฎีกาเพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ให้ขึ้นรถยนต์ไปกับจำเลยโจทก์สมัครใจไปเอง หรือในชั้นสอบสวนทางวินัยจำเลย โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันต่อคณะกรรมการถึงเรื่องการหลอกลวงหรือเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเลยหยิบยกขึ้นมาฎีกาล้วนมาจากการนำสืบในคดีแพ่งจึงฟังไม่ขึ้นเพราะกรณีของจำเลยนี้จำเลยเป็นผู้กระทำผิดในคดีส่วนอาญาโดยตรง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและตามเหตุผลที่ปรากฏในคำร้องของจำเลยในเอกสารหมายจ.๘ นั้น แสดงว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำผิดในคดีส่วนอาญาด้วยความสมัครใจ หาใช่เป็นเพราะหลงเชื่อคำแนะนำของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนแต่ประการใดไม่ จำเลยถูกผูกพันโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๖ จึงโต้เถียงว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จริง
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด สำหรับค่าเสียหายทางจิตใจนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนบางกะปิ ช่วยราชการสำนักงานเลขานุการกรมสามัญศึกษา ปฏิบัติงานเลขานุการรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ในตำแหน่งและฐานะดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับเลือกให้มาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอันเป็นงานซึ่งจะต้องพบปะและประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ที่จะมาติดต่องานกับรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา แสดงว่า โจทก์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บังคับบัญชาอย่างยิ่ง จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานดังกล่าวนั้น ฉะนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่า การกระทำละเมิดของจำเลยย่อมจะเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายทางจิตใจอย่างแน่นอน ตามคำเบิกความของนางอุทัยวรรณ พลทรัพย์ พยานของจำเลยที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักพอจะฟังว่าสภาพทางจิตใจของโจทก์เป็นปกติดังที่จำเลยอ้าง เพราะนางอุทัยวรรณเป็นเพียงลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่คอยชงกาแฟบริการแขกซึ่งมาพบรองอธิบดีและอธิบดีกรมสามัญศึกษาเท่านั้น หาใช่เป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพของจิตใจแต่อย่างใด และแม้โจทก์เพิ่งจะไปพบจิตแพทย์หลังจากเกิดเหตุแล้วประมาณ ๑ ปี ๗ เดือน ก็หาเป็นการผิดปกติแต่อย่างใดไม่ เพราะอาการดังกล่าวของโจทก์เป็นเรื่องที่เกิดมาจากสภาพภายในทางจิตใจ และตามคำเบิกความของนายแพทย์ปราโมทย์ เชาวศิลป์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้ตรวจอาการป่วยของโจทก์นั้น เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่า โจทก์มีอาการป่วยทางจิตโดยมีอาการซึมเศร้า เพราะถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ เมื่อคำนึงถึงสาเหตุที่โจทก์ถูกจำเลยใช้กำลังกายประทุษร้ายเพื่อกระทำอนาจารโจทก์ซึ่งเป็นหญิงสาว โจทก์ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างแน่นอน และคำเบิกความของนายแพทย์ปราโมทย์ที่ว่า หากโจทก์ไม่รับการรักษาทันทีแล้วโจทก์อาจฆ่าตัวตายได้นั้น ถือว่า เป็นความเห็นทางการแพทย์ หาใช่เป็นการคาดเดาดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์มิได้นำพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงต่อศาลว่า โจทก์รับจ้างสอนพิเศษกี่ราย มีใครบ้าง มีรายได้รายละเท่าใดและที่โจทก์อ้างว่า มีรายได้จากการสอนพิเศษเดือนละ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ บาท นั้น ก็หาเป็นข้อสำคัญหรือเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยแต่อย่างใดไม่ เพราะในฐานะและตำแหน่งของโจทก์เชื่อว่า โจทก์สามารถที่จะทำการสอนพิเศษเพื่อหารายได้ในระดับที่กล่าวอ้างนั้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามโจทก์ก็มิได้มุ่งจะกำหนดเอาอัตรารายได้จากการสอนพิเศษดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าเสียหายให้จำเลยต้องรับผิดแต่อย่างใด ส่วนความเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงและเกียรติยศนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำคู่รักของโจทก์หรือบุคคลอื่นมาเบิกความเป็นพยานก็ตาม แต่คดีก็ได้ความว่า หลังจากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จนจำเลยถูกฟ้องถูกลงโทษทั้งทางอาญาและทางวินัยแล้ว โจทก์ก็มิได้แต่งงานกับคนรักของโจทก์ และน่าเชื่อว่า เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นมาโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายทางเกียรติยศและชื่อเสียง และมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์อย่างแน่นอน และแม้โจทก์จะมิได้นำพยานบุคคลหรือเอกสารมาสืบประกอบว่า ความเสียหายของโจทก์มีจำนวนแน่นอนเท่าใดก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ความเสียหายทางกายและจิตใจเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า สมควรแล้วส่วนที่กำหนดให้จำเลยชดใช้ความเสียหายด้านชื่อเสียงและเกียรติยศเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐บาท นั้น เห็นว่า สูงเกินไปเห็นสมควรลดลงมาเป็น ๗๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๗๕,๐๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๗๕,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share