คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม น.ส.3ตั้งแต่ปี 2506 แต่เนื่องจากพวกเขมรเข้ามาปล้นชาวบ้านแถวบริเวณที่พิพาทบ่อย ๆ จำเลยจึงทิ้งที่พิพาทไป โดยปีหนึ่งกลับมาดูหนหนึ่งเหตุที่จำเลยปล่อยที่พิพาทรกเป็นป่าเนื่องจากจำเลยเกรงอิทธิพลของบุคคลภายนอกจึงต้องหลบหนี นาน ๆ จึงจะแวะมาดูที่พิพาทครั้งหนึ่ง การครอบครองที่พิพาทของจำเลยไม่เป็นการต่อเนื่องและเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทในปี 2532 ภายหลังที่โจทก์ร่วมได้ซื้อที่พิพาทจาก อ.โดยสุจริตแล้วจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม 2532 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 31 มกราคม 2532 ทั้งเวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในเขตที่ดินจำนวน 15 ไร่ของผู้เสียหาย เพื่อถือการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เหตุเกิดที่ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราดจังหวัดตราด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบด้วยมาตรา 362 จำคุก 1 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2531 โจทก์ร่วมทั้งห้าได้ซื้อที่พิพาทจำนวน 15 ไร่ มาจากนางอารีเทพหัสดิน ณ อยุธยา เมื่อซื้อมาแล้วได้ให้นายมานิตย์ตั้งบุรสุวรรณ กำนันตำบลแหลมกลัด ช่วยดูแลให้ ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2532 จำเลยได้เข้าไปปลูกบ้านลงในที่พิพาทคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมที่ 1 และนายมานิตย์ เบิกความสรุปเป็นใจความว่า ก่อนทำการซื้อที่พิพาทโจทก์ร่วมที่ 1 ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นนำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองตราดไปทำการรังวัดที่ดินที่พิพาท ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดครอบครอง และเมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม2531 โจทก์ร่วมที่ 1 ได้ไปดูที่พิพาทด้วยตนเองอีกก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทำการบุกรุก ต่อมาประมาณกลางเดือนมกราคม 2532นายมานิตย์ได้โทรศัพท์บอกโจทก์ร่วมที่ 1 ทราบว่าจำเลยเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาท โจทก์ร่วมที่ 1 จึงได้เดินทางไปดูด้วยตนเองปรากฏว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทจริง แต่ไม่พบตัวจำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 จึงสั่งให้นายมานิตย์ช่วยบอกให้จำเลยทำการรื้อถอนบ้านออกไป ต่อมานายมานิตย์ได้บอกโจทก์ร่วมที่ 1ว่าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลท่าเลื่อนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ซึ่งจำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่าจำเลยได้เข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทครั้งสุดท้ายก่อนถูกแจ้งความประมาณ 1 หรือ 2 เดือนจริง โดยจำเลยอ้างว่าได้ที่พิพาทเนื่องจากนายวิชา มีภักดี ตีใช้หนี้ให้ตั้งแต่ปี 2506 แต่ในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยมิได้นำนายวิชามาเบิกความต่อศาลให้สมจริงตามที่อ้าง ทั้งจำเลยยังเบิกความด้วยว่าจำเลยปลูกบ้านหลังแรกเมื่อปี 2506 แต่เนื่องจากพวกเขมรเข้ามาปล้นชาวบ้านแถวบริเวณที่พิพาทบ่อย ๆ จำเลยจึงทิ้งที่พิพาทไปโดยปีหนึ่งกลับมาดูหนหนึ่งเหตุที่จำเลยปล่อยให้ที่พิพาทรกเป็นป่าเนื่องจากจำเลยเกรงอิทธิพลของบุคคลภายนอก จึงต้องหลบหนี นาน ๆ จึงจะแวะมาดูที่พิพาทครั้งหนึ่ง เห็นว่าการครอบครองที่พิพาทของจำเลยไม่เป็นการต่อเนื่องและเป็นกิจจะลักษณะพยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วม ดังนั้นเมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่พิพาทซึ่งโจทก์ร่วมได้ซื้อมาโดยสุจริต จำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share