คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกที่ดินพิพาททั้งหมดซึ่งเป็นที่ น.ส.3 อ้างว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินร่วมกันมาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 1 ปีแล้ว ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนาย ม. บิดาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมานาย ม. ออกจากบ้านแล้วหายสาบสูญไปก็ถือไม่ได้ว่า ม. สละการครอบครองที่พิพาท จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนาย ม. มีส่วนในที่พิพาทเท่า ๆ กัน ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของที่พิพาทส่วนของตนได้
การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดิน ได้งดดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่จัดรูปใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสามเพราะจำเลยทั้งสามคัดค้านการออกโฉนดโดยอ้างว่าเป็นทายาทของ ม. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาท เมื่อมีข้อโต้แย้งและตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 4 จึงให้คู่กรณีไปดำเนินคดีกันทางศาลก่อน เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าอย่างไรก็จะปฏิบัติไปตามนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และนายโม่งมีชื่อร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) แต่นายโม่งได้สละการครอบครองไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จำเลยทั้งสามไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้ ต่อมามีการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่พิพาท จำเลยที่ ๔ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินได้จัดรูปที่ดินพิพาทใหม่โดยแบ่งออกเป็น ๓ แปลง จำเลยที่ ๓ ได้มาขอให้ลงชื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรนายโม่งร่วมในโฉนดที่จะออกให้ใหม่ด้วย โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายโม่ง เพราะนายโม่งสละการครอบครองในที่พิพาทเกินกว่า ๑ ปีแล้ว โจทก์ทั้งสามครอบครองที่พิพาทเกินกว่า ๑ ปีแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิในที่ดินที่จัดรูปใหม่ทั้ง ๓ แปลง ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง ให้ทำลายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ฉบับเดิม ให้จำเลยที่ ๔ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่จัดรูปใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทเป็นมรดกของบิดามารดาโจทก์ที่ ๒ ตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ และนายโม่งซึ่งเป็นทายาท โจทก์ที่ ๑ และที่ ๑ ไม่ใช่ทายาท จึงไม่มีสิทธิในที่พิพาท นายโม่งไม่เคยสละการครอบครองที่พิพาทหากแต่ได้สาบสูญไป จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นบุตรนายโม่งเกิดกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกส่วนของนายโม่งจึงมีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ ๔ ดำเนินการลงชื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในโฉนดที่ดินที่จัดรูปใหม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่อาจดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินให้ได้ เนื่องจากมีกรณีพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงต้องให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการกับทางศาลก่อน อันเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ มิได้ละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาข้อที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ หรือไม่นั้น โจทก์ฎีกามาโดยสรุปว่าจำเลยที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียสิทธิในที่พิพาท จำเลยที่ ๔ นำสืบว่า หลังจากดำเนินการจัดรูปที่ดินแปลงพิพาทแล้ว โจทก์ทั้งสามมาขอให้จำเลยที่ ๔ ดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทในนามของโจทก์ทั้งสาม แต่มีจำเลยทั้งสามคัดค้านอ้างว่าเป็นทายาทของนายโม่งซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาท เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นดังกล่าวและตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๔ จึงให้คู่กรณีไปดำเนินคดีกับทางศาลก่อน เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าอย่างไร ก็จะปฏิบัติไปตามนั้น ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ เองว่า ที่ยังออกโฉนดที่พิพาทไม่ได้มิได้เกิดจากเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ ๔ ด้วย ดังนี้ ที่จำเลยที่ ๔ ยังไม่ดำเนินการให้ตามที่โจทก์ร้องขอ แต่ให้โจทก์จำเลยไปดำเนินคดีกับทางศาลก่อน จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ นั้น ชอบแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และนายโม่งครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมานายโม่งออกจากบ้านแล้วหายสาบสูญไปก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการสละการครอบครองที่พิพาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และนายโม่งครอบครองที่พิพาทร่วมกัน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนมีส่วนเท่า ๆ กัน ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเจ้าของที่พิพาทส่วนของตนได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.๓ เป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๑ ใน ๓ ส่วน คำขออื่นให้ยกเสีย

Share