แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะขอบวชหรืออุปสมบทได้โดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงค์และสังฆาณัตินั้นจะต้องมีพระอุปัชฌายะ ซึ่งให้บรรพชาอุปสมบทได้แต่ที่โจทก์ บวชโดยพระอุปัชฌายะในต่างประเทศ ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้รับแต่งตั้งโดยถูกต้องให้เป็นผู้อุปสมบทเช่นนี้ย่อมถือว่าการบวชนั้นเป็นการถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ได้
การที่มีประกาศแถลงการณ์คณะสงฆ์ 2 ฉบับก็เนื่องจากที่โจทก์ต้องหาว่าประพฤติคลุกคลีกับมาตุคามจนถูกบังคับให้สึก แต่ใช้ถ้อยคำไม่เหมือนกันเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ซ่องเสพเมถุนกับมาตุคามดังโจทก์ฎีกา จึงหาเป็นการละเมิดอย่างใดไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์บวชโดยพระอุปัชฌายะที่นครจำปาศักดิ์ในเขตอินโนจีนถูกต้องตามพระธรรมวินัยมาแล้วจำพรรษาอยู่วัดใหม่พิมสุวรรณจำเลยได้ประกาศและโฆษณาว่าโจทก์เป็นภิกษุต้องอธิกรฉายาปราชิกฐานคลุกคลีกับมาตุคามห้ามเจ้าอาวาสวัดใด ๆ รับโจทก์ไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริงเป็นการละเมิดและเสียหายแก่โจทก์และขอให้เพิกถอนประกาศและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้บวชจากพระอุปัชฌายะที่แต่งตั้งตามสังฆาณัติ จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ประกาศนั้นชอบแล้ว ไม่เป็นการละเมิดสิทธิอย่างใด โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าการบวชของโจทก์มิชอบและจำเลยกระทำตามหน้าที่พิพาทยกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าแม้โจทก์จะบวชโดยพระอุปัชฌายะในต่างประเทศก็เป็นการถูกต้องตามพระธรรมวินัยและประกาศว่าแถลงการณ์เป็นการละเมิด
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๗ สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา และตามสังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ พ.ศ.๒๔๘๗ ม.๑๓ บัญญัติว่า พระอุปัชฌายะมีหน้าที่บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้เฉพาะตนจะตั้งหรือขอให้ภิกษุอันซึ่งมิได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะทำหน้าที่แทนตนไม่ได้ และตาม ม.๔ อุปัชฌายะ หมายความว่าพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานในการให้บรรพชาอุปสมบทได้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์และสังฆาณัติที่กล่าวมาจะต้องมีพระอุปัชฌายะซึ่งให้บรรพชาอุปสมบทได้, แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าบวชโ่ดยพระอุปัชฌายะที่นครจำปาศักดิ์ในเขตอินโดจีนไม่ปรากฏว่าเป็นพระอุปัชฌายะที่ได้รับแต่งตั้งอันถูกต้องเป็นผู้ให้อุปสมบทเช่นนี้จะถือว่าการบวชของโจทก์เป็นการถูกต้องตาม พ.ร.บ.ที่กล่าวมิได้
เห็นว่าการที่มีประกาศ (แถลงการณ์คณะสงฆ์) ๒ ฉบับนี้ก็เนื่องจากที่โจทก์ต้องหาว่าประพฤติตนคลุกคลีกับมาตุคามจนถูกบังคับให้สึก ข้อความในประกาศ ๒ ฉบับเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ประพฤติดังที่ถูกกล่าว หากใช้ถ้อยคำไม่เหมือนกันเท่านั้น โจทก์++ในประกาศฉบับหลังมิได้หมายความว่าโจทก์ซ่องเสพเมถุนกับมาตุคามดังโจทก์ฎีกาขึ้นมา จึงถือเป็นการละเมิดอย่างใดมิได้.
พิพากษายืน.