แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2503 มาตรา12 ให้อำนาจ อธิบดีกรมศุลกากร ตีความสั่งเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรให้ถูกต้องได้ ถ้าหากการจัดพิกัดอัตราศุลกากรตามที่ถือปฏิบัติกันมายังไม่ถูกต้อง
เดิมจำเลยเคยเรียกเก็บภาษีอากรขาเข้าสำหรับสินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 30.03ง.(32) ในลักษณะยาอื่นๆ ในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ามา ในราชอาณาจักรแต่ต่อมาอธิบดีกรมจำเลยได้มีคำวินิจฉัยพิกัดอัตราใหม่ ตามคำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ 151/2519ให้จัดสินค้ายาอมแก้โรคเจ็บคอ และหวัดประเภทเดียวกับสินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์ เข้า พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่17.04 โดยถือเป็นลูกกวาดซึ่งต้องเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 65 ของราคาสินค้าหรือกิโลกรัมละ 22 บาท เมื่อคำวินิจฉัยพิกัดอัตราของอธิบดีกรมจำเลยเป็นการตีความพิกัดอัตราศุลกากรโดยชอบ. การประเมินเรียกเก็บภาษีอากรของจำเลยย่อมชอบด้วยกฎหมาย. แม้โจทก์จะขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับยาอมแฮคส์ไว้ต่อกองอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขก็เป็นการ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ.2510 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ และมีวัตถุประสงค์ต่างกันจะอ้างมาเป็นหลักในการตีความ พิกัดอัตราศุลกากรเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทยาอมแฮคส์จากประเทศมาเลเซียเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยได้จดทะเบียนขึ้นตำรับยาประเภทยาแผนปัจจุบันต่อกระทรวงสาธารณสุขแล้ว สินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์เป็นสินค้าประเภทยาจึงต้องเสียภาษีอากรขาเข้าตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภท 30.03 ง. (32) ในลักษณะยาอื่น ๆ ในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้าที่นำเข้า แต่จำเลยอ้างว่าสินค้ายาอมแฮคส์ที่โจทก์สั่งเข้ามาจำหน่าย ไม่ใช่สินค้าประเภทยาแต่จัดเป็นสินค้าประเภทลูกกวาดต้องเสียภาษีอากรขาเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 17.04อัตราร้อยละ 65 ของราคาสินค้าที่นำเข้าหรือคิดตามน้ำหนักในอัตรากิโลกรัมละ22 บาท โจทก์เห็นว่าคำสั่งประเมินของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะที่โจทก์นำเข้าโจทก์ได้จดทะเบียนตำรับยาสินค้ายาอมแฮคส์ไว้ต่อกระทรวงสาธารณสุขและจำเลยเคยยอมรับให้สินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์เป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 30.03 ง.(32) ซึ่งจะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าร้อยละ 10 ของราคาสินค้าที่นำเข้าโดยยึดถือการขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักในการวินิจฉัย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินของจำเลยและให้จำเลยคืนเงิน 3,998,056.45 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและให้สั่งจำเลยงดเว้นการเรียกเก็บเงินเพิ่มและเบี้ยปรับจากโจทก์
จำเลยให้การว่า สินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์เป็นของผสมที่มีน้ำตาลเป็นสาระสำคัญ มีตัวยาผสมอยู่ในปริมาณน้อยมากไม่เพียงพอแก่การใช้บำบัดหรือป้องกันโรค ดังนั้นอธิบดีกรมศุลกากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 จึงได้ออกประกาศแจ้งอัตราอากรตามคำวินิจฉัยอัตราที่ 151/2519 จัดยาอมแฮคส์เข้าพิกัดประเภทที่ 17.04โดยถือว่าเป็นลูกกวาด ไม่ใช่สินค้าประเภทยาตามพิกัดประเภทที่ 30.03 ง.(32)จึงต้องเสียอาการขาเข้าร้อยละ 65 ของราคาสินค้าหรือติดตามน้ำหนักในอัตรากิโลกรัมละ 22 บาท คำสั่งประเมินของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย เงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไปแล้วเป็นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน และจำเลยต้องชำระภาษีที่ค้างพร้อมเงินเพิ่มภาษีหรือเบี้ยปรับตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้เดิมจำเลยเคยเรียกเก็บอากรขาเข้าสำหรับสินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 30.03 ง.(32) ในลักษณะยาอื่น ๆในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ต่อมาอธิบดีกรมจำเลยก็ได้มีคำวินิจฉัยพิกัดอัตราใหม่ตามคำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ 151/2519ให้จัดสินค้ายาอมแก้โรคเจ็บคอและหวัดประเภทเดียวกับสินค้ายาอมแฮคส์ของโจทก์เข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 17.04 โดยถือเป็นลูกกวาด การที่อธิบดีกรมจำเลยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตีความพิกัดอัตราศุลกากรตามที่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 12 บัญญัติให้อำนาจไว้ ดังนั้น ถ้าหากการจัดพิกัดอัตราศุลกากรตามที่ถือปฏิบัติกันมายังไม่ถูกต้อง อธิบดีกรมจำเลยย่อมมีอำนาจตีความและสั่งเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้
สำหรับสินค้ายาอมแฮคส์ที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของซึ่งผสมหรือประกอบด้วยยาและน้ำตาลอันเป็นวัตถุต่างชนิดกัน ถ้าถือยาเป็นสาระสำคัญก็เข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 30.03 ง.(32) ถ้าถือน้ำตาลเป็นสาระสำคัญก็เป็นลูกกวาดซึ่งเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 17.04 ตามวินิจฉัยพิกัดอัตราของอธิบดีกรมจำเลยและจากผลการตรวจวิเคราะห์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ยาอมแฮคส์ที่โจทก์สั่งเข้ามาในราชอาณาจักรมีน้ำตาลเป็นสาระสำคัญ ตัวยาที่ผสมอยู่มีปริมาณน้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะใช้บำบัดรักษาโรคได้ ดังนั้น ที่อธิบดีกรมจำเลยมีคำวินิจฉัยว่า ยาอมแก้โรคเจ็บคอและหวัดประเภทเดียวกับยาอมแฮคส์ที่โจทก์นำเข้าเป็นลูกกวาดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 17.04 ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่กรุงบรัสเซลล์ จึงเป็นการตีความพิกัดอัตราศุลกากรที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมายแล้ว ถึงแม้โจทก์จะขึ้นทะเบียนตำรับยาและสำหรับยาอมแฮคส์ไว้ต่อกองอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขก็เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ และมีวัตถุประสงค์ต่างกันจะอ้างมาเป็นหลักในการตีความพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรหาได้ไม่ เมื่อคำวินิจฉัยพิกัดอัตราของอธิบดีกรมจำเลยเป็นการตีความพิกัดอัตราศุลกากรโดยชอบการประเมินเรีกยเก็บภาษีอากรของจำเลยย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และกรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับงดเว้นการเรียกเก็บเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามคำขอของโจทก์
พิพากษายืน