แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขอขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงิน หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่อนุญาต
จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาจำนองเป็นประกันไว้ และจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับภริยาและจำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาก็ตาม คงมีผลเพียงว่าภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
โจทก์เป็นผู้อ้างเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเป็นพยาน ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้เอกสารดังกล่าวสมบูรณ์ถูกต้องสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลรัษฎากร มิใช่หน้าที่ของจำเลย
สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน และปรากฏว่าสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 3,200,000 บาท และรับเงินที่กู้จากโจทก์ไปแล้วจำนวน 2,650,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยในขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี โดยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันที่ 8 ของเดือน อย่างน้อยที่สุดเดือนละ 52,000 บาท ชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2536 เป็นต้นไป และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หากผิดนัดไม่ชำระเงินดังกล่าวเดือนหนึ่งเดือนใดยอมให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้ทันทีและไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนกำหนดได้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78258 และ 78611 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวเป็นประกัน มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดแก่โจทก์จนครบถ้วน ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเป็นหนี้อีกต่อไป จึงได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวและบังคับจำนองไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่ยังคงเพิกเฉยระหว่างกู้เงินโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคิดในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและโจทก์ได้ประกาศกำหนดไว้ คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงิน 1,899,286.59 บาท และดอกเบี้ย566,767.89 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,466,054.48 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน2,466,054.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ของต้นเงิน 1,899,286.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากขายทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยไม่มีเจตนาทำสัญญากู้เงิน ไม่เคยรับเงินที่กู้ ไม่เคยตกลงยอมเสียดอกเบี้ยและยอมรับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามฟ้อง อีกทั้งจำเลยไม่เคยและไม่ได้มอบอำนาจให้จดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นเอกสารปลอมที่โจทก์จัดทำขึ้นฝ่ายเดียว จำเลยมิได้สมัครใจและไม่เคยอ่านข้อความในสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและมิได้รับความยินยอมจากภริยาของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,466,054.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ของต้นเงิน 1,899,286.59 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78258 และ 78611 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากขายทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,899,286.59 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2544 ที่ขออนุญาตทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าวเสียก่อน เห็นว่า การร้องขอดังกล่าวโจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องดังกล่าวหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ และทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการกู้เงินตามเอกสารหมาย จ.9 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์ไม่อาจอ้างหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 เป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีนายวิภัช ละม้ายแข ผู้จัดการของโจทก์สาขาหลักสี่ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ สาขาหลักสี่จำนวน 3,200,000 บาท และได้รับเงินที่กู้จากโจทก์ไป 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 จำนวน 2,200,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 จำนวน 200,000 บาท และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 จำนวนเงิน 250,000บาท ตามหนังสือหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 และในวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยได้มอบอำนาจให้นายประวิทย์ อภิรัตน์เกษม เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเป็นประกันการกู้เงินไว้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.9และ จ.10 แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่า นายประวิทย์พี่ชายจำเลยเป็นผู้กู้และรับเงินไป แต่จำเลยก็รับว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 เอกสารมอบอำนาจและเอกสารเกี่ยวกับสัญญาจำนองจริง เพียงแต่อ้างว่าขณะลงลายมือชื่อเอกสารดังกล่าวยังไม่ได้กรอกข้อความและจำเลยไม่ทราบว่านายประวิทย์จะนำไปกู้เงินและจำนองที่ดินแก่โจทก์ เห็นว่า หนังสือหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นแบบพิมพ์ของโจทก์ที่มีรายละเอียดระบุถึงการกู้เงินและรับเงินที่กู้ไว้อย่างชัดเจน ผู้ที่อ่านย่อมสามารถเข้าใจได้โดยง่าย หากจำเลยไม่ใช่ผู้กู้และจำนอง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเพื่อผูกพันตนเองให้ต้องรับผิด จำเลยเป็นแพทย์มีการศึกษาสูงย่อมทราบถึงเหตุผลในข้อนี้เป็นอย่างดี และที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบการกู้เงินและจำนองรายนี้ เพิ่งมาทราบเมื่อถูกทวงถามนอกจากจะขัดกับหลักฐานการรับเงินกู้ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ยังขัดกับคำให้การของจำเลยที่ให้การว่า โจทก์ใช้วิธีทำสัญญาแบบเบ็ดเสร็จบีบบังคับให้จำเลยต้องจำยอมลงลายมือชื่อโดยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.9 เป็นประกันไว้จริง และจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ 3 ครั้ง ตามหนังสือหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ถึงจ.8 ซึ่งเอกสารดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับภริยาจำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา สัญญาจำนองจึงไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า หากเป็นจริงดังที่จำเลยอ้าง คงมีผลเพียงว่าภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาทำนองว่า ตามประมวลรัษฎากร การกู้ยืมเงินโจทก์ผู้ให้กู้เป็นผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ตามกฎหมาย ส่วนจำเลยผู้กู้มีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์ การที่หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 มิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า นอกจากข้ออ้างของโจทก์จะไม่มีกฎหมายรองรับแล้วโจทก์เป็นผู้อ้างเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเป็นพยาน ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้เอกสารดังกล่าวสมบูรณ์ถูกต้องสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ กรณีหาใช่หน้าที่ของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 จึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนกับในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 จึงถือได้ว่าการกู้ยืมเงินรายนี้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้นั้น เห็นว่า สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐาน ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินรายนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน