แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามฟ้องของโจทก์มิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91 มาในคำขอท้ายฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และทางพิจารณาของศาลข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมจริงดังนี้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิใช่บทบัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดซึ่งโจทก์จะต้องกล่าวอ้างมาในคำขอท้ายฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)และกรณีมิใช่ศาลลงโทษจำเลยเกินคำขอตามมาตรา 192 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2523 ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกัน จำเลยและพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ
ก. จำเลยและพวกโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยและพวกป่าวประกาศโฆษณาและเที่ยวบอกกล่าวแก่ประชาชนทั่วไปว่า จำเลยและพวกสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานยังประเทศต่าง ๆ ทางตะวันออกกลางได้มีรายได้ดีและเงินเดือนสูง หากใครประสงค์จะไปทำงานให้สมัครได้ที่จำเลยแต่ต้องเสียค่าบริการและค่านายหน้าให้แก่จำเลย เป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความหลงเชื่อมาสมัครงานและเสียเงินให้แก่จำเลยเป็นจำนวนหลายราย ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2523 เวลากลางวัน นายทองดี เข็มพันธ์ ได้มาสมัครทำงานและเสียเงินให้จำเลยจำนวน 25,000 บาท
2. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายถนอม ศรีปัญญา ได้มาสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
3. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายเคน ทนหงษา ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
4. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายชาติ จันทรเสนา ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลย จำนวน 25,000 บาท
5. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายบุญกว้าง วงศ์สนิท ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินแก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
แต่บุคคลตามข้อ ก. อันดับ 2 ถึงอันดับ 5 ได้ถูกส่งไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์คนละ 12 วันก็ถูกส่งตัวกลับ
ข. จำเลยและพวกโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในฟ้องข้อ ก. แต่ความจริงแล้วผู้ที่ไปทำงานจะไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากนายจ้างเลย เนื่องจากจำเลยและพวกได้รับเงินค่าจ้างและเงินเดือนจากนายจ้างที่ต่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจนหมดแล้วทำให้ประชาชนเกิดความหลงเชื่อมาสมัครงานและเสียเงินให้แก่จำเลย ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายสุดตา จันทร์เสนา ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลย 25,000 บาท
2. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2523 เวลากลางวัน นายภู่ พาดี ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
3. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายอุดร สนสระดู ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
4. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายเอื้อน จันทรเสนา ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลย จำนวน 25,000 บาท
5. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายสำรอง งามดี ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 25,000 บาท
6. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2523 เวลากลางวัน นายสมบูรณ์ ลาไป ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 25,000 บาท
7. เมื่อวันที่ 1, 17 และ 30 มีนาคม 2523 เวลากลางวัน นายนิคม มัครัมย์ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 10,000 บาท, 10,000 บาทและ 5,000 บาทตามลำดับ
8. เมื่อวันที่ 24 และ 28 เมษายน 2523 เวลากลางวัน และวันที่ 20 พฤษภาคม2523 เวลากลางวัน นายคำสิงห์ จันทรเสนา ได้ไปติดต่อสมัครทำงานและเสียเงินให้แก่จำเลยจำนวน 15,500 บาท 5,000 บาท และ 7,000 บาทตามลำดับ
จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งหลายดังกล่าวตามข้อ ก. และข้อ ข.รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 327,500 บาท แล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 และ 343 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ 83 เป็นความผิด 13 กรรม จำคุกกรรมละ 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามที่รับไป
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมายว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและจะต้องถูกลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไปหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยโดยเรียงกระทงลงโทษความผิดและมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยก็ดี แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และทางพิจารณาของศาลล่างทั้งสองต่างฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมจริงศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ หาจำต้องระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ด้วยไม่ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลลงโทษจำเลยในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันจะต้องลงโทษทุกกรรม มิใช่บทบัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดซึ่งโจทก์จะต้องกล่าวอ้างมาในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) และกรณีมิใช่ศาลลงโทษจำเลยเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน