คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์รับเหมาก่อสร้างอาคารซึ่งจำเลยรับเหมาจากองค์การโทรศัพท์กำหนดจ่ายค่าจ้างตามงวดที่จำเลยได้รับเงินจากองค์การจำเลยรับเงินงวดสุดท้ายจากองค์การได้มาบางส่วนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 แล้วได้รับอีกบางส่วนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2515 ดังนี้ อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา165(1) สำหรับหนี้ที่ค้างงวดนั้นทั้งจำนวนเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2514

ย่อยาว

จำเลยรับเหมาก่อสร้างอาคารจากองค์การโทรศัพท์กำหนดจ่ายค่าจ้าง5 งวด จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารนั้นต่ออีกทอดหนึ่ง กำหนดจ่ายค่าจ้างตามคราวที่จำเลยได้รับเงินจากองค์การโทรศัพท์ องค์การจ่ายเงินงวดสุดท้ายครั้งแรกวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 แล้วจึงจ่ายเงินเพิ่มเติมให้อีกเมื่อวันที่ 12มกราคม 2515 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 78,400.35 บาท แก่โจทก์กับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมากันตามสัญญาท้ายฟ้องและจำเลยยังค้างชำระค่าจ้างงวดที่ 5 แก่โจทก์เป็นเงิน 172,069 บาท จริง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 2ตอนต้นมีข้อความว่า ผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเหมาแก่ผู้รับจ้างเหมาเป็นเงินทั้งสิ้น 2,128,000 บาท โดยจะแบ่งจ่ายให้เป็นงวด ๆ หรือตามคราวที่ผู้ว่าจ้างได้รับเงินมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ฟังได้ว่าจำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างเหมาให้โจทก์เป็นงวด ๆ ในเมื่อจำเลยได้รับเงินค่าจ้างเหมาตามงวดนั้น โจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างเหมางวดที่ 5 ได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินค่าจ้างเหมางวดที่ 5 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514จำเลยได้รับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำนวน 114,565.40 บาท ถึงแม้ว่าจำเลยจะได้รับเงินค่าจ้างเหมางวดที่ 5จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพียงบางส่วน ก็ถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าจ้างเหมาสำหรับงวดที่ 5 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างเหมาแก่โจทก์ตั้งแต่วันนั้น เมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกำหนด2 ปี คดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165 (1)”

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

Share