คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3769/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทปัจจุบันเป็นซอยทองหล่อ 18 โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนสุขุมวิท 55 โดยโจทก์แนบแผนที่สังเขปมาท้ายคำฟ้องซึ่งแสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าที่ดินของโจทก์อยู่สุดซอยทองหล่อ 18 ติดกับคลองเป้งและติดกับที่ดินของ ท. ซึ่งเป็นทางเชื่อมกับที่ดินพิพาทเพื่อออกสู่ถนนสุขุมวิท 55แผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย เป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าที่ดินของโจทก์ ที่ดินของ ท. และที่ดินพิพาทอยู่ในบริเวณใดและมีสภาพเป็นอย่างไรคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่ดินของโจทก์อยู่สุดซอยทองหล่อ 18 แม้โจทก์ไม่เคยอยู่อาศัยในซอยดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ก็มีสิทธิที่จะเข้าออกเพื่อไปดูแลหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ หากที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะทั้งแปลงตามที่โจทก์อ้างในฟ้องแล้ว การที่จำเลยทั้งเก้าทำที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นตลาดสดย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะใช้ทางสาธารณะได้รับความสะดวกน้อยลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเก้าได้
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9ให้การว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งเก้า เหตุที่โจทก์ไม่ขออนุญาตหรือขอให้จำเลยทั้งเก้าจดทะเบียนภารจำยอมให้ ก็เพราะโจทก์จะทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ฎีกาว่า โจทก์จะปลูกบ้านพักและอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์ซึ่งทางราชการจะอนุญาตต่อเมื่อติดทางสาธารณะที่มีขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เป็นการฟ้องคดีเพื่อผลประโยชน์ของตนเองอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ให้การไว้ฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องว่า พ. และ น. เจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2485 จึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นทายาทของ พ. และ น. ได้ผู้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเก้าได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายย่อมเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งเก้าที่อ้างว่าจำเลยทั้งเก้าไม่ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของนายพัน โพบุตร และนางพิน แสงมะณี ที่ดินโฉนดเลขที่ 7243 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองหล่อ ทองบุญรอด นายพัน นางพิน และนายทองหล่อได้ร่วมกันยกที่ดินทั้งสองแปลงเป็นทางสาธารณะประโยชน์ให้ประชาชนใช้สัญจรเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนสุขุมวิท 55 ตั้งแต่ปี 2485 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเดิมเรียกว่า ซอยโพบุตร ปัจจุบันเรียกว่าซอยทองหล่อ 18 โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7209 ตำบลคลองตันอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และได้สร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยใช้ซอยทองหล่อ 18 เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนสุขุมวิท 55 มาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี จำเลยทั้งเก้าเป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 จากนายพันและนางพินเมื่อปี 2531 ต่อปี 2535 จำเลยทั้งเก้าได้ปิดกั้นทางเข้าออกบนที่ดินโฉนดเลขที่7095 ซึ่งนายพันและนางพินยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยให้บุคคลอื่นเข้ามาเปิดร้านค้าบนที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์และบุคคลอื่นไม่สามารถใช้ทางสัญจรไปมาตามปกติได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7243 ซึ่งนายทองหล่อยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ยังเป็นทางสัญจรไปมาได้ แต่ไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะสุขุมวิท 55 ได้ เพราะจำเลยทั้งเก้าได้ปิดกั้นขวางอยู่ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 และ 7243 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นทางสาธารณประโยชน์ และห้ามจำเลยทั้งเก้าพร้อมบริวารเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 ตำบลคลองตันอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร

จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ให้การทำนองเดียวกันว่า นายพัน นางพิน และนายทองหล่อไม่เคยยกที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องให้ประชาชนทั่วไปใช้สัญจรเป็นทางเข้า – ออก สู่ทางสาธารณะถนนสุขุมวิท 55 ตั้งแต่ปี 2485 จนถึงปัจจุบันแต่อย่างใดและบุคคลทั้งสามไม่ได้ทำหนังสือหรือแสดงเจตนาทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ได้ยินยอมและอนุญาตให้บุคคลบางคนใช้เป็นทางชั่วคราวเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 55 ตามความจำเป็นและต้องขออนุญาตก่อน ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องไม่ได้มีสภาพเป็นถนนทั้งหมดคงมีเฉพาะส่วนยาวประมาณ 40 เมตร จากปากซอยทองหล่อ 18 ติดถนนสุขุมวิท 55 เท่านั้น ที่มีสภาพเป็นถนนคอนกรีต ส่วนต่อจากบริเวณถนนคอนกรีตไปจนถึงคลองเป้งไม่มีสภาพเป็นถนนและเดิมเป็นเพียงทางเดินมีสภาพเป็นดินกว้างเพียงประมาณ 2 เมตร และบุคคลที่ใช้ทางเดินดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้แนบสำเนาโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงมาท้ายคำฟ้องและคำฟ้องมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ตรงบริเวณใดมีสภาพและถูกแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินแปลงใดที่ดินของโจทก์อยู่ตรงบริเวณใด ผู้ใดปิดกั้นทางพิพาทและเป็นอุปสรรคขัดข้องไม่สามารถใช้ทางได้อย่างไร โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริตเพราะโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องเป็นที่ดินส่วนบุคคลและเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งเก้า โจทก์จะทำให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้นโดยไม่ขอความยินยอมหรือขอภารจำยอมจากจำเลยทั้งเก้า เมื่อจำเลยทั้งเก้าได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวก็ไม่เคยยกที่ดินหรือยินยอมหรือเจตนาให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และจำเลยทั้งเก้ายังได้ดูแลทำประโยชน์ ในที่ดินทั้งสองแปลงตามปกติ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7209 ตำบลคลองตันอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และโจทก์ไม่ได้ใช้ซอยทองหล่อ 18 เป็นทางสัญจรเข้าออก จำเลยทั้งเก้ามิได้ปิดกั้นขัดขวางทางเข้าออกซอยทองหล่อ 18 และร้านค้าที่ปรากฏอยู่ริมทางในซอยดังกล่าวก็มิได้ขวางทางสัญจรแต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ทั้งแปลงเป็นทางสาธารณะ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนปิดกั้นทางสาธารณะดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ที่เป็นตลาดสดชั่วคราว ส่วนที่ระบายด้วยสีเขียว ตามแผนที่ประกอบการเดินเผชิญสืบโดยสังเขปลงวันที่ 20 ตุลาคม2540 ไม่ใช่ทางสาธารณะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งเก้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7209 ซึ่งอยู่สุดซอยทองหล่อ 18ติดกับคลองเป้ง โดยซื้อมาเมื่อปี 2533 ซอยทองหล่อ 18 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท55 หรือซอยทองหล่อเดิม จากปากซอยทองหล่อ 18 ลึกเข้าไปในซอยประมาณ 40 เมตรเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 7.50 เมตร ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ถัดเข้าไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7095 ซึ่งมีชื่อจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยรับมรดกจากนายพันและนางพินตั้งแต่ปี 2531 และเป็นที่ดินพิพาท ที่ดินแปลงนี้มีความกว้างประมาณ 14.80เมตร ยาว 112 เมตร มีถนนคอนกรีตรวมทางเท้ากว้าง 7.50 เมตร เท่ากับทางสาธารณะจากปากซอย และมีความยาวตลอดแนวที่ดินพิพาททางซ้ายมือเมื่อหันหน้าเข้าไปในซอยที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีกด้านหนึ่งจำเลยทั้งเก้าได้เทพื้นคอนกรีตสูงกว่าระดับถนนและกางเต้นท์ทำเป็นตลาดสดให้เช่าค้าขาย ถัดจากที่ดินพิพาทเข้าไปจนสุดซอยเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7243 ของนายทองหล่อ ทองบุญรอด ซึ่งมีแนวตรงกับที่ดินพิพาท มีถนนคอนกรีตเลยเข้าไปในที่ดินของนายทองหล่อเป็นระยะทาง 13 เมตร ขนาดกว้างเท่ากับถนนคอนกรีตในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2531 จำเลยทั้งเก้าได้จดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินพิพาทบางส่วนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4186 และ 7096 ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ กว้าง 7 เมตร เท่ากับถนนคอนกรีตในที่ดินพิพาท และที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ทั้งสองโฉนดดังกล่าวได้ก่อสร้างเป็นอาคารชุดชื่อ “ทองหล่อทาวเวอร์” รายละเอียดเป็นไปตามแผนที่ประกอบการเดินเผชิญสืบโดยสังเขปของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2540

พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์อยู่บริเวณใด ที่ดินพิพาทอยู่บริเวณใด มีสภาพเป็นอย่างไรกว้างยาวเท่าใด ประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลฎีกาคงรับวินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 เท่านั้น และเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า ที่ดินพิพาทปัจจุบันเป็นซอยทองหล่อ 18 โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนสุขุมวิท 55 โดยโจทก์แนบแผนที่สังเขปมาตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งแสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าที่ดินของโจทก์อยู่สุดซอยทองหล่อ 18 ติดกับคลองเป้ง และติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 7243 ของนายทองหล่อ ที่ดินของนายทองหล่อแปลงนี้เป็นทางเชื่อมกับที่ดินพิพาท เพื่อออกสู่ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) แผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วยเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าที่ดินของโจทก์ ที่ดินของนายทองหล่อและที่ดินพิพาทอยู่ในบริเวณใดและมีสภาพเป็นอย่างไร จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ก็ต่อสู้คดีได้อย่างเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4ถึงที่ 9 ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ไม่เคยอาศัยอยู่ในซอยทองหล่อ 18 และทางในซอยดังกล่าวก็ยังใช้ได้เป็นปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ที่ดินของโจทก์อยู่สุดซอยทองหล่อ 18 แม้โจทก์ไม่เคยอยู่อาศัยในซอยดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ก็มีสิทธิที่จะเข้าออกเพื่อไปดูแลหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ หากที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะทั้งแปลงตามที่โจทก์อ้างในฟ้องแล้ว การที่จำเลยทั้งเก้าทำที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นตลาดสดย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะใช้ทางสาธารณะได้รับความสะดวกน้อยลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเก้าได้ ส่วนที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาต่อไปว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ ส่วนจำเลยที่ 1และที่ 4 ถึงที่ 9 ให้การว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งเก้า เหตุที่โจทก์ไม่ขออนุญาตหรือขอให้จำเลยทั้งเก้าจดทะเบียนภารจำยอมให้ ก็เพราะจะทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ฎีกาว่า โจทก์จะปลูกบ้านพักและอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์ซึ่งทางราชการจะอนุญาตต่อเมื่อติดทางสาธารณะที่มีขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เป็นการฟ้องคดีเพื่อผลประโยชน์ของตนเองอันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 9 ให้การไว้ฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ดินพิพาททั้งแปลงไม่ใช่ทางสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นทางสาธารณะโดยนายพันและนางพินเจ้าของเดิมแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย จึงเป็นประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งเก้าและโจทก์รวมกันไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่านายพันและนางพิน เจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2485 จึงไม่มีประเด็นเลยว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งเก้าได้อุทิศที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นถนนคอนกรีตให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายย่อมเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งเก้าที่อ้างว่าจำเลยทั้งเก้าไม่ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด สำหรับปัญหาตามประเด็นข้อนี้นั้น โจทก์ฟ้องอ้างว่านายพันและนางพินเจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทได้ยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2485โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้ดังข้ออ้าง แต่พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีผู้ใดทราบเจตนาของนายพันและนางพินในเรื่องนี้ การที่นายพันและนางพินแยกโฉนดที่ดินพิพาทออกมามีลักษณะเป็นทางต่อเชื่อมกับทางสาธารณะด้านปากซอยทองหล่อ 18 และเชื่อมทางในที่ดินของนายทองหล่อซึ่งอยู่ด้านในตามที่ปรากฏในสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.1 และแผนที่ประกอบการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2540 นั้น อาจเป็นเพราะนายพันและนางพินเพียงประสงค์จะให้ที่ดินพิพาทเป็นทางสำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินของตนและของนายทองหล่อใช้เป็นทางออกสู่ถนนสุขุมวิท 55 โดยเจตนาให้เป็นทางหรือถนนส่วนบุคคลก็ได้ และการที่เจ้าของที่ดินมิได้ปักป้ายแสดงการสงวนสิทธิไว้ก็ไม่อาจแปลไปได้ว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้ที่ดินนั้นเป็นทางสาธารณะเสียแล้ว เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ มาประกอบให้เห็นชัดแจ้งเช่นนั้นได้ส่วนการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำงบประมาณในปี 2526 มาก่อสร้างถนนคอนกรีตในที่ดินพิพาทก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะแสดงว่าเจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นยกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะและที่สำนักงานเขตพระโขนง มีหนังสือขับไล่ผู้ที่บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ในซอยทองหล่อ 18 ตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่าผู้บุกรุกนั้นได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทหรือไม่ และที่สำนักงานเขตคลองเตยตั้งงบประมาณปี 2534 เพื่อปรับปรุงซอยทองหล่อ 18 ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.7ก็ปรากฏว่าในที่สุดสำนักงานเขตคลองเตยไม่อาจดำเนินการตามงบประมาณได้เนื่องจากเมื่อสำรวจแล้วพบว่าพื้นที่ในซอยทองหล่อ 18 บางส่วนไม่ใช่ทางสาธารณะ ต้องมีการขอโอนงบประมาณไปดำเนินการอย่างอื่นตามสำเนาเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานครได้ทำบันทึกตำหนิสำนักงานเขตคลองเตยไว้ด้วยว่า ก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณค่าที่ดินและค่าสิ่งก่อสร้างต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าพื้นที่ที่จะดำเนินการเป็นที่สาธารณะหรือไม่ ให้สำนักงานเขตคลองเตยกำชับเจ้าหน้าที่อย่าให้มีกรณีเช่นนี้อีก แสดงว่าเมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่ซอยทองหล่อ 18 กันอย่างจริงจังแล้ว ปรากฏว่าไม่ใช่ที่สาธารณะทั้งหมด เห็นได้ว่าหากที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่โจทก์อ้างแล้ว สำนักงานเขตคลองเตยย่อมดำเนินการปรับปรุงไปตามงบประมาณที่ได้รับ นอกจากนี้เมื่อมีการออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่สำหรับที่ดินพิพาทโดยแยกโฉนดที่ดินเดิมเมื่อวันที่30 ตุลาคม 2529 ก็ยังคงระบุชื่อนายพันและนางพินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยไม่ปรากฏว่าทางราชการหรือบุคคลอื่นใดโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ และตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.1 ยังปรากฏว่ามีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาท ทั้งในปี 2529 ปี 2530 และปี 2531 แสดงว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงหวงกันกรรมสิทธิ์ของตนตลอดมา ส่วนพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบหลายปากก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่เคยบุกรุกที่ดินในซอยทองหล่อ 18 และบางคนก็เพียงแต่มีที่อยู่อาศัยใกล้เคียงที่ดินพิพาท และคงได้ความเพียงว่าบุคคลทั่วไปอาจใช้ซอยทองหล่อ 18 รวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นทางออกสู่ถนนสุขุมวิท 55 ได้เท่านั้น ซึ่งมิใช่เหตุที่จะให้รับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่านายพันและนางพินได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะทั้งแปลง และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะเฉพาะส่วนที่เป็นถนนคอนกรีตกว้าง 7.50 เมตร นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งเก้าฟังขึ้น แต่ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share