แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยประพฤติหรือปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยโดยอาศัยมูลเหตุตามสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าสัญญาเช่าอาคารพิพาทที่โจทก์ทำไว้กับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 และเมื่อสัญญาเช่าช่วงครบกำหนด โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าช่วงโดยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะอยู่ในอาคารพิพาทได้ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยเป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์และให้จำเลยอาศัยอยู่ในร้านด้วย ต่อมาโจทก์เลิกจ้างจำเลย จำเลยไม่ยอมออกจากร้านของโจทก์ จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทของโจทก์ จำเลยให้การว่าสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นนิติกรรมอำพราง คือสัญญาจ้างผู้จัดการอำพรางสัญญาเช่าช่วง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,800 บาท จนกว่าจะออกจากอาคารพิพาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยยกเหตุเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ 2 ประการ คือ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้สมอันปราศจากสงสัยว่า การมอบอำนาจได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ประการหนึ่ง และโจทก์ฟ้องคดีหลังจากสิ้นสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับกระทรวงการคลังแล้วประการหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการมอบอำนาจนั้น โจทก์มีนายจรูญ รัตนสิริพรหม ประธานกรรมการโจทก์เบิกความว่า คณะกรรมการของโจทก์ได้มีมติให้พยานดำเนินการฟ้องคดีนี้แทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายจรูญ รัตนศิริพรหม กับนายวิรัช วัฒนกูลหรือกับนายบุญทา สุนทรไชยา ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ซึ่งปรากฏตามใบแต่งทนายความว่าบุคคลทั้งสามได้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายจรูญรัตนศิริพรหม กับนายวิรัช วัฒนกูล หรือกับนายบุญทา สุนทรไชยาฟ้องคดีแทนโดยชอบแล้ว ส่วนเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์กับกระทรวงการคลังสิ้นสุดแล้วนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยมูลเหตุตามสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์เมื่อจำเลยประพฤติหรือปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวประการใด อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าสัญญาเช่าอาคารพิพาทที่โจทก์ทำไว้กับกระทรวงการคลังจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาของจำเลยที่โต้เถียงว่า สัญญาจ้างผู้จัดการตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ จ.2 เป็นนิติกรรมอำพรางการให้เช่าช่วงอาคารพิพาทนั้น ถึงแม้จะฟังได้ว่าเป็นความจริง แต่ตามสัญญาจ้างผู้จัดการดังกล่าวได้ว่าจ้างมีกำหนด5 ปี ซึ่งครบกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2524 จึงจะต้องถือว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้การเช่าช่วงอาคารพิพาทมีกำหนดเวลาและสิ้นสุดลงตามวันเดือนปีดังกล่าวด้วย และคู่ความรับกันว่าเมื่อสัญญาจ้างผู้จัดการสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 มกราคม2525 บอกเลิกจ้างจำเลย และต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2525 ไปถึงจำเลย ยืนยันไม่ต่ออายุสัญญาให้จำเลยกับเร่งรัดให้จำเลยและครอบครัวพร้อมบริวารออกไปจากอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย ล.45 หรือ จ.8 จึงต้องแปลว่าเมื่อสัญญาเช่าช่วงครบกำหนดแล้ว โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าช่วงโดยชอบแล้วเช่นเดียวกันดังนั้น จำเลยจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะอยู่ในอาคารพิพาทได้ต่อไปส่วนประเด็นค่าเสียหายที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เพราะสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์กับกระทรวงการคลังได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2525สิทธิในการใช้ประโยชน์ในอาคารพิพาทย่อมหมดสิ้นลงตามอายุสัญญาเช่านั้น ปรากฏว่าปัญหานี้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน