คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3763/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกการเงินของโจทก์ร่วมกับจำเลยอื่นรับเงินไว้แทนโจทก์แล้วไม่ส่งให้โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้เงินคืนโจทก์ เป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดอันจะอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยอื่นรับเงินไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ดังโจทก์ฟ้อง เพียงแต่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยให้จำเลยอื่นเอาเงินของโจทก์ไป ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุละเมิดดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์โดยเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นลูกจ้างโจทก์โดยเป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามและนามนิติสาร มานัสฤดี ร่วมกันรับเงินไว้แทนโจทก์แล้วไม่นำลงบัญชีของโจทก์ตามระเบียบและไม่นำเข้าฝากธนาคาร โดยร่วมกันนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นจำนวนเงิน 154,660.50บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับเงินแทนโจทก์และไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 รับเงินแล้วไม่มอบแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินที่ได้รับมาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชอบ หากต้องรับผิดก็เป็นจำนวนเงินเพียง 58,515 บาทเท่านั้นจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน เก็บรักษาเงิน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ก่อนศาลชั้นต้นสืบพยาน จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายนิติสาร มานัสฤดี เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกจำเลยร่วมว่าจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เคยไปช่วยงานจำเลยที่ 1เป็นครั้งคราว แต่ไม่มีหน้าที่รับเงินแทนโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิด หากจะต้องรับผิดก็เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 16,450 บาทขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน104,840.50 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 33,370 บาท จำเลยที่ 4ชำระเงินจำนวน 16,450 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินของจำเลยแต่ละคนที่จะต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้คืนแก่โจทก์จนครบ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 154,660.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเอกชน พ.ศ. 2512 เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2522 ถึงเดือนกรกฎาคม 2523 ขณะจำเลยทั้งสี่เป็นลูกจ้างโจทก์ มีจำเลยที่ 1เป็นหัวหน้าแผนกการเงิน จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ประจำแผนกการเงินจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับคำสั่งจากโจทก์ให้มาช่วยงานในแผนกการเงินดังกล่าวเป็นครั้งคราว ปรากฏว่าเงินโจทก์ขาดหายไปจากบัญชีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อนว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ได้ทราบเรื่องยอดเงินขาดหายและผู้กระทำผิดมาตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2523โดยในการประชุมคณะกรรมการควบคุมวิทยาลัยโจทก์ ครั้งที่ 8/2523ผู้รักษาการผู้อำนวยการโจทก์ ขณะนั้นได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้รับทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.1 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 5 ตุลาคม 2524 พ้นกำหนด1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1กับพวกร่วมกันรับเงินไว้แทนโจทก์ แล้วไม่นำส่งโจทก์ โดยนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดอันจะอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังจำเลยที่ 1 ฎีกา คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ประเด็นที่จะวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับผิดใช้เงินคืนโจทก์หรือไม่ นายแสวงศักดิ์ คงเจริญนายยืน ปาระเคน กับ นายประภา ประจักษ์ศุภนิติ พยานโจทก์ซึ่งนายแสวงศักดิ์เป็นอุปนายกสภาวิทยาลัยโจทก์ นายยืนและนายประภาเคยรักษาการผู้อำนวยการโจทก์และเคยเป็นผู้อำนวยการโจทก์ตามลำดับเบิกความว่า ขณะเงินของโจทก์ขาดหายไปจากบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกการเงิน ส่วนจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่การรับจ่ายเงินและอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องปฏิบัติไปตามระเบียบที่โจทก์วางไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 8, 9, 12และ 13 ที่ระบุว่าเงินรายได้ทุกประเภทต้องนำลงบัญชีให้เรียบร้อยและนำเข้าธนาคารในโอกาสแรกที่ทำได้ พร้อมทั้งแจ้งยอดแก่ผู้อำนวยการโจทก์ การรับเงินทุกครั้ง จะต้องมีใบเสร็จรับเงินตามแบบที่โจทก์กำหนด เล่มที่ เลขที่เรียงตามลำดับ ให้อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่บัญชี และลงลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้รับเงิน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการรับจ่ายเงิน ปรากฏตามบันทึกของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.14ว่า เงินที่จำเลยที่ 2 รับไว้ขาดหายไปถึง 104,840.50 บาท โดยมีบัญชีรายละเอียดวันที่เงินขาดเลขที่ของใบเสร็จ จำนวนที่นำส่งรวมทั้งจำนวนเงินที่ขาดส่งซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้แย้งบัญชีนี้ ทั้งรับว่าได้ลงลายมือชื่อไว้ในบัญชีดังกล่าวด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังจะผ่อนชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ แต่ต่อมาเห็นว่าเงินจำนวนมากจึงมิได้ชำระข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเงินที่จำเลยที่ 2ได้รับไว้แทนโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ส่งให้โจทก์เป็นเงิน 104,840.50บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏหลักฐานตามบันทึกของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.14 ประกอบสมุดบัญชีเอกสารหมาย ล.2 ว่า เงินที่ขาดหายไปจำเลยอื่นเป็นผู้รับไว้จากบุคคลภายนอก แล้วไม่นำส่งให้แก่จำเลยที่ 1เพื่อนำส่งแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยอื่นไม่ส่งเงินนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ร่วมกับจำเลยอื่นรับเงินไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน มีหน้าที่รับเงินจากจำเลยอื่นแล้วนำส่งให้โจทก์โดยการนำฝากเข้าบัญชีโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องตรวจสอบยอดเงินให้ตรงกับใบนำส่งเงินและสมุดคุมยอดรายรับรายจ่ายหากมีการส่งเงินให้จำเลยที่ 1 ไม่ครบจำเลยที่ 1 ก็น่าจะตรวจพบได้อันเข้าลักษณะประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้จำเลยอื่นเอาเงินของโจทก์ไปก็ตาม แต่โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่อในลักษณะดังกล่าวและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นเพราะเหตุนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ดังนั้นจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share