คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3762/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพียงแต่ยื่นหนังสือขอเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ต่อโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยังมิได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีว่า “ทนายโจทก์ได้รับข้อเสนอขอประนอมหนี้จากจำเลยที่ 1 โดยยื่นเงื่อนไขการโอนที่ดินชำระหนี้โดยตีราคาหลักการประกันทั้งหมด และส่วน ที่เหลือจะทำการผ่อนชำระภายในเวลา 5 ปี ซึ่งในหลักการหนี้โจทก์ได้เสนอเงื่อนไขต่อคณะกรรมการเร่งรัดหนี้แล้วเพราะเหตุที่ทุนทรัพย์สูงมาก ทนายโจทก์ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจข้อประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1ได้” ก็หาเป็นข้อความที่แสดงว่าโจทก์ยอมรับเงื่อนไขตามที่จำเลยที่ 1 เสนอไม่และการที่โจทก์ไม่แจ้ง มติของคณะกรรมการเร่งรัดหนี้สินให้จำเลยที่ 1 ทราบก็เป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ไม่ตกลงตามข้อเสนอ ของจำเลยที่ 1 หนังสือเสนอขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1จึงไม่มีผลผูกพัน โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางรัตนาจำเลยที่ 1 และนางรัตนาร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันประเภทบัญชีเดินสะพัดและขอสินเชื้อเบิกเงินเกินบัญชียอมชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน คิดถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน2530 จำเลยที่ 1 และนางรัตนาเป็นหนี้โจทก์จำนวน39,534,845 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และนางรัตนายังกู้เงินโจทก์อีก 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 13,000,000 บาทโดยนางรัตนาได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันวันที่ 5 สิงหาคม 2530 นางรัตนาถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางรัตนาทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีค้างชำระ 47,246,895.06 บาท หนี้เงินกู้ค้างชำระ 19,318,356.17 บาทรวมหนี้ 2 รายการ เป็นเงิน 66,565,251,23 บาท เมื่อนำราคาหลักประกันมูลค่าสูงสุดจำนวน 12,660,000 บาท หักแล้วคงเหลือหนี้จำนวน 53,905,251.23 บาท เป็นหนี้จำนวนแน่นอนโจทก์ทวงถามหลายครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันจำเลยทั้งสองมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้พฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้โจทก์ หนี้โจทก์นำมาฟ้องไม่อาจกำหนดได้แน่นอนฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้โจทก์ฟ้องโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 1มิได้สมัครใจ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากกองมรดกของนางรัตนาเกินกว่า 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่านางรัตนาถึงแก่กรรม ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จองจำเลยที่ 1เด็ดขาดฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือเสนอขอเสนอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1ประนอมหนี้จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(7) นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1เพียงแต่ยื่นหนังสือขอเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ต่อโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยังมิได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีว่า “ทนายโจทก์ได้รับข้อเสนอขอประนอมหนี้จากจำเลยที่ 1 โดยยื่นเงื่อนไขการโอนที่ดินชำระหนี้โดยตีราคาหลักประกันทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะทำการผ่อนชำระภายในเวลา 5 ปีซึ่งในหลักการนี้โจทก์ได้เสนอเงื่อนไขต่อคณะกรรมการเร่งรัดหนี้แล้วเพราะเหตุที่ทุนทรัพย์สูงมาก ทนายโจทก์ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้” ก็หาเป็นข้อความที่แสดงว่าโจทก์ยอมรับเงื่อนไขตามที่จำเลยที่ 1 เสนอไม่ และการที่โจทก์ไม่แจ้งมติของคณะกรรมการเร่งรัดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ทราบก็เป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่ตกลงตามข้อเสนอของจำเลยที่ 1 หนังสือเสนอขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ส่วนข้อความในหนังสือดังกล่าวจะเป็นหนังสือที่ลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(7) หรือไม่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะหนี้ที่โจทก์เกินกว่าหลักประกันและทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มี จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
พิพากษายืน

Share