คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมีชื่อใน น.ส.3 ก. อันมีผลให้จำเลยได้รับคำรับรองของทางราชการว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว และยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตาม แต่เมื่อวัดโจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
หลังจากตั้งวัดโจทก์ขึ้นแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นโดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ 10 ปี จึงสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดด้วยความยินยอมของโจทก์ แต่เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว โจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาทยังคงนำที่ดินออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่ เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ซึ่งต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นตามเจตนาของผู้ยกให้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่วัดและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลยและต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ทางราชการได้ขออาศัยอาคารสถานที่ของโจทก์เปิดเป็นโรงเรียนจำเลยได้นำที่ดินธรณีสงฆ์ของโจทก์เนื้อที่ 24 ไร่ดังกล่าวไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1793 และ 1794 ต่อมามีการยุบโรงเรียนแต่จำเลยไม่ยอมคืนที่ดินให้โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1793 และ1794 กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 10,000 บาท และทุก ๆ ปีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้อุทิศและมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่โรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาแล้ว ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ดินพิพาทในนามจำเลยเพื่อประโยชน์ของการศึกษาแห่งชาติ ที่ดินพิพาทก็โอนไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติด้วย เป็นผลให้ที่ดินพิพาทตกเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่เคยทวงถามเรียกร้องที่ดินพิพาทคืน และที่ดินพิพาทไม่สามารถทำประโยชน์ได้เพราะมีอาคารโรงเรียนตั้งอยู่ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)เลขที่ 1793 และ 1794 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่วัดของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ทั้งสองฉบับดังกล่าวเสีย คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นชื่อของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ดังกล่าว เห็นว่า เมื่อจำเลยอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและต่อมานายอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)โดยระบุจำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) แต่โจทก์อ้างว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้งสองแปลงเป็นของโจทก์ การที่จำเลยมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มีผลให้จำเลยได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว และจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1373 หากความจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง สิทธิของจำเลยก็ไม่ถูกต้องตรงตามความจริงเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ตามความเป็นจริงโดยตรง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับโอนมาตามกฎหมายเป็นที่ราชพัสดุก็ตาม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ได้ เมื่อฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยคู่ความสืบพยานจนสิ้นกระแสความ ทั้งพยานหลักฐานในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยตามประเด็นพิพาทต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้แก่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1793 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 11 ไร่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1794 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลย เพื่อประโยชน์การศึกษาประชาบาลโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบเป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นายก๊ก แก้วแสง กับนางสร้อย แก้วแสง ได้ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้โจทก์เพื่อสร้างวัดจึงได้มีการสร้างวัดคลองมะแพลบในที่ดินดังกล่าว วัดคลองมะแพลบตั้งขึ้นเมื่อปี 2478 ต่อมาปี 2484 ได้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบขึ้น โดยอาศัยศาลาวัดเป็นอาคารเรียน ปี 2496 วัดคลองมะแพลบได้รื้อกุฏิไปอยู่ที่อื่น ส่วนโรงเรียนยังอยู่ที่เดิม ต่อมาโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบได้โอนมาสังกัดจำเลย ได้มีการรื้อศาลาวัดซึ่งใช้เป็นอาคารเรียนและปลูกสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ปี 2523 มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการประถมศึกษาโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบจึงโอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ปี 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในฐานะประธานกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดพิษณุโลกประกาศเลิกล้มโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบเพราะเหตุไม่มีนักเรียน

… ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า วัดคลองมะแพลบได้อุทิศที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้เป็นของจำเลยแล้วหรือไม่ นายคล้ายและพระครูอุปถัมภ์ธรรมกิจพยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากได้ตั้งวัดคลองมะแพลบขึ้นในปี 2484 มีการตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบขึ้น โดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอาศัยศาลาวัดอยู่ 10 ปี จึงได้สร้างอาคารเรียนในที่ดินของวัดคลองมะแพลบโดยชาวบ้านยินยอมให้สร้าง วัดก็อนุญาตกรรมการวัดและมัคนายกก็เห็นชอบด้วย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความยืนยันว่าในระยะเริ่มแรกโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบได้มาขอยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนซึ่งทางวัดก็ยินยอม ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่บุตรหลานของชาวบ้านใกล้เคียงที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนเป็นการที่ศาสนาเกื้อหนุนประชาชนในท้องที่ให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนต่อมาได้มีการสร้างอาคารเรียนขึ้นในที่ดินของวัดก็ด้วยความยินยอมของวัด พยานโจทก์ทั้งสองปากไม่ได้เบิกความลอยว่าวัดยกที่ดินให้โรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบ แม้ต่อมาเมื่อปี 2496 วัดคลองมะแพลบจะย้ายออกไปจากที่ตั้งเดิมไปตั้งยังที่ตั้งใหม่ ก็ไม่ถือว่าวัดคลองมะแพลบได้สละที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาเล่าเรียน แต่ยังคงถือว่าวัดให้โรงเรียนใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาเท่านั้น นายทองใบ ศรีฐาน กรรมการวัดโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว พยานได้เช่าที่ดินของโจทก์ทำนาเนื้อที่ 13 ไร่ ปัจจุบันยังเช่าอยู่จ่ายค่าเช่าให้มัคนายกวัดโจทก์ 3 ปี ต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 8,000 บาท จะเห็นได้ว่า โจทก์ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ยังคงนำที่ดินพิพาทสองแปลงออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นโรงเรียนตลอดมาตั้งแต่ปี 2487 จนกระทั่งโรงเรียนประชาบาลวัดคลองมะแพลบถูกยุบไปเมื่อปี 2537 หาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไม่ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ต่อมาได้มีการสร้างวัดคลองมะแพลบขึ้นในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามเจตนาของผู้ยกให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นชื่อของจำเลยและต่อมาได้ถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ด้วยเหตุที่อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม ฟังไม่ได้ว่าวัดคลองมะแพลบได้อุทิศที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้เป็นของจำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share