แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บริษัท ย. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ได้มอบอำนาจให้บริษัท ค. โดย พ. มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ กับทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวแทนผู้เสียหายได้ แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายคือบริษัท ค. มิใช่ พ. เช่นนี้ พ. ในฐานะส่วนตัวจึงไม่อาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลใดไปร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ การที่ พ. มอบอำนาจช่วงให้ ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะที่ พ. เองเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การแจ้งความร้องทุกข์โดย ป. ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก พ. จึงเป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบเพราะกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาความผิดนี้ได้ ปัญหาเรื่องการสอบสวนและการฟ้องคดีชอบหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6, 34 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70, 75 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และสั่งให้วีดีโอเทปภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) และ 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 5,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 55,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 และ 30 แต่มิให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี ให้วิดีโอเทปภาพยนตร์ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นจำนวน 1 ม้วน ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 กรณีฝ่าฝืนมาตรา 6 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวเป็นจำนวน 5,000 บาท จึงต้องห้ามมิใช้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานของโจทก์ที่มาเบิกความไม่น่าเชื่อถือไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นายปรีชา ไพบูลย์สถิตย์วงศ์ เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยนายปรีชาได้รับมอบอำนาจช่วงจากนายไพบูลย์ วิศวะกุล ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 แต่ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นพยานเอกสารของโจทก์เองกลับได้ความว่า บริษัท ยู แอนด์ ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้า” ได้มอบอำนาจให้บริษัทโคลีเซียม ฟิล์ม จำกัด โดยนายไพบูลย์ วิศวะกุล มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เรื่อง “ฟ้า” กับทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวแทนผู้เสียหายได้ ดังนี้ แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายคือ บริษัทโคลีเซียม ฟิล์ม จำกัด มิใช่นายไพบูลย์ นายไพบูลย์ในฐานะส่วนตัวจึงไม่อาจมอบอำนาจช่วงให้นายปรีชาไปแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ แต่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ว่า นายไพบูลย์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายปรีชาไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะที่นายไพบูลย์เองเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การแจ้งความร้องทุกข์โดยนายปรีชาตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายไพบูลย์จึงเป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบเพราะกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาความผิดนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง