คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลักลอบนำเด็กทารกข้ามแดนไปในประเทศมาเลเซียเพื่อส่งให้แก่นาง อ. พี่สาวจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก และฐานรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา และพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริต แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อจะส่งเด็กทารกไปให้นาง อ. จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษามาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และ 213 ประกอบมาตรา 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตามฟ้องเป็นความผิดโดยมีบทลงโทษตามมาตรา 52 วรรคสาม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่แปดปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตาม พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
การที่โจทก์มีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้อง จึงพอแปลได้ว่า โจทก์ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานอื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั่นเอง แต่ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่ชอบอย่างไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กพ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 251, 252, 265, 268, 312ตรี พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18, 62 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี และปรับ 900 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 11 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 11 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 4 เดือนและปรับ 600 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 7 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 7 ปี 4 เดือนและปรับ 600 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและทำปลอมรอยตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงาน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมและใช้รอยตราประจำตำแหน่งปลอม (ที่ถูก ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ฐานทำปลอมและใช้รอยตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานปลอม) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กและฐานรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหาและพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน แต่โจทก์มีคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประกอบพยานแวดล้อมมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับเด็กทารกมาโดยเด็กหญิงจิรพรรณมารดาของเด็กทารกสมยอมมอบให้เนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้ พฤติการณ์จึงยากต่อการที่จะมีประจักษ์พยานรู้เห็น เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 กับนางเอื้อยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำเด็กทารกจากประเทศไทยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย โดยจำเลยที่ 2 รับเป็นผู้จัดการเอกสารให้ทุกอย่าง ความข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจเอกพีระ เจ้าพนักงานตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์และจำเลยที่ 1 ยังให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจโทบรรเทิง พนักงานสอบสวน โดยร้อยตำรวจเอกพีระและพันตำรวจโทบรรเทิงเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันในข้อนี้ ส่วนจำเลยที่ 3 เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 3 รับเด็กทารกจากมารดาของเด็กทารกแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 2 คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็มิได้เป็นคำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วย จึงรับฟังคำซัดทอดดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์มีนางสมบูรณ์ เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 2 เคยมาที่บ้านของพยานพร้อมกับจำเลยที่ 3 โดยนำเด็กทารกไปฝากพยานเลี้ยง 1 คืน แม้พยานจะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าไปในบ้านของพยานด้วย แต่นั่งรออยู่บนรถจักรยานยนต์ที่จอดรถอยู่หน้าบ้าน แต่ในชั้นสอบสวนพยานก็ให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนฝากให้พยานเลี้ยงเด็กทารกให้โดยบอกว่าเป็นบุตรของเพื่อน พยานปากนี้รู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 3 เคยอุ้มเด็กทารกมาค้างที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกทั้งเด็กทารกดังกล่าวยังเป็นเด็กอ่อนอายุเพียง 15 วัน ตามปกติมารดาผู้ให้กำเนิดต้องเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ใช่มารดาจะนำเด็กทารกเร่ไปตามที่ต่าง ๆ และการที่จำเลยที่ 1 รับจ้างนำเด็กทารกข้ามแดนไปในประเทศมาเลเซียก็เพื่อไปส่งให้แก่นางเอื้อยพี่สาวของจำเลยที่ 2 จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กและฐานรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา และพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริต พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดทั้งสองฐานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อจะส่งเด็กทารกไปให้นางเอื้อย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และ 213 ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตามฟ้องเป็นความผิด โดยมีบทลงโทษตามมาตรา 52 วรรคสาม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่แปดปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถึงสามแสนบาทจึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตามพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้องนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก และฐานร่วมกันรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา และพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริต และลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม ฐานใช้รอยตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานปลอมและฐานเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ยื่นรายการตามแบบที่กำหนดไว้และไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานอื่นตามฟ้อง การที่โจทก์มีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้อง จึงพอแปลได้ว่า โจทก์ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานอื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั่นเอง แต่ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวก็มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่ชอบอย่างไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันรับไว้ จำหน่ายเป็นธุระจัดหาและพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ไม่กำหนดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หนึ่งในสาม สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นแล้ว จำคุก 4 ปี 8 เดือน ปรับ 600 บาท จำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ยกฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share