คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้ลูกระเบิดฆ่า ศ. อ. และ ส. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าบุคคลอื่นอีกหลายคน แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นลักษณะที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธร้ายแรงมีอำนาจแห่งการทำลายโดยกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใด จึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้ลูกระเบิดในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นยังเป็นความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) และมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม อีกด้วย โดยความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบทต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดจำนวน 1 ลูก ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 และจำเลยที่ 1 กับพวกใช้ลูกระเบิดดังกล่าวฆ่านายศานิตหล่อเกษมศานต์ นายอรุณ สมานมาก และนายสง่า ทรงศรีม่วง โดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย ทั้งเป็นการลงมือฆ่านายขจร จตุรพร อนันตกุล นายวันชัยสุขหฤทัย นายหวน ชมบุญ นายพินิจศักดิ์ เขียววิไล และนายสุเทพ สุขแสวง โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยกระทำทารุณโหดร้าย แต่นายขจร นายวันชัย นายหวน นายพินิจศักดิ์และนายสุเทพ ไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยที่ 1 กับพวก เพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย และได้รับอันตรายสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า20 วัน ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ใช้และจ้างวานจำเลยที่ 1 กับพวกให้กระทำความผิดดังกล่าวและเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนจำนวน 1 กระบอก ซึ่งใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงานยึดได้อาวุธปืนลูกซองสั้นเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 84, 91, 288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 38,55, 72, 74, 78 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางสุพิศ หล่อเกษมศานต์ ภริยานายศานิต หล่อเกษมศานต์ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยกระทำทารุณโหดร้ายและฐานใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่อาวุธปืนของกลางไม่มีทะเบียนเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(5), 289(5) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้วางโทษประหารชีวิต ฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 15 ปี และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย คงจำคุกตลอดชีวิตฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 10 ปี และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่นมารวมอีกได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 เวลา16.45 นาฬิกา นายสง่า ทรงศรีม่วง ขับรถยนต์แวนหมายเลขทะเบียน ม-1579 สุรินทร์ออกจากสำนักงานเทศบาลเมืองสุรินทร์ โดยมีนายอรุณ สมานมาก และนายศานิตหล่อเกษมศานต์ นั่งไปด้วย ครั้นมาถึงซอยเข้าห้างสรรพสินค้าเพชรเกษมพลาซ่าข้างธนาคารหลวงไทย จำกัด สาขาสุรินทร์ รถยนต์แวนดังกล่าวระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้นายศานิต นายอรุณและนายสง่าถึงแก่ความตาย นอกจากนี้นายวันชัย สุขหฤทัย ซึ่งขับรถจักรยานยนต์มีนายพินิจศักดิ์ เขียววิไลนั่งซ้อนท้ายนายหวน ชมบุญ ซึ่งนั่งรถสามล้อรับจ้างกับนายขจร จตุรพรอนันตกุล และนายสุเทพ สุขแสวง รวมทั้งสิ้น 5 คนที่ผ่านมาถึงที่เกิดเหตุได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานและกองสรรพาวุธ กรมตำรวจ ร่วมกับพนักงานสอบสวนตรวจสถานที่เกิดเหตุและสภาพรถยนต์แวนดังกล่าวพบว่าคนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องแบบบังคับจุดระเบิดด้วยคลื่นวิทยุไปติดไว้ที่ใต้ท้องรถยนต์แวนดังกล่าวบริเวณด้านขวาใกล้กับส่วนบนของถังน้ำมันตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมภาพถ่าย และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ตรวจค้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 พบตลับเทปบันทึกเสียงการฝึกสอนวิธีใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบบังคับจุดระเบิดด้วยคลื่นวิทยุจำนวน 2 ม้วน สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาสุรินทร์ จำนวน 1 เล่ม ใบเสร็จรับเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลขที่ 86478 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ฝากเงินจำนวน110,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 51420205119 จำนวน 1 แผ่น ใบเสร็จรับเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลขที่ 864080 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ฝากเงินจำนวน 50,000บาท เข้าบัญชีเลขที่ 269-0-68376-4 จำนวน 1 แผ่น และสมุดบันทึกส่วนตัวทั้งนำตัวจำเลยที่ 1 ไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ในกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลกองกำลังสุรนารี จังหวัดสุรินทร์ พบอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนจำนวน1 กระบอก จึงยึดสิ่งของทั้งหมดไว้เป็นของกลาง มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้กระทำผิด และจับจำเลยที่ 1 ขณะออกมาจากที่ตั้งหน่วยทหารนำตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจทางหลวงสุรินทร์โดยมิได้ติดต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ให้ส่งตัวจำเลยที่ 1ให้ตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหม เป็นการจับจำเลยที่ 1โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทมนตรี จรัลพงศ์ สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์และนายดาบตำรวจพิชิต วงศ์สูตินันท์ พยานโจทก์ และโจทก์ร่วมว่าเหตุที่รู้ตัวคนร้ายเพราะนายดาบตำรวจพิชิตซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์สังเกตเห็นว่า หลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนกันมีเงินใช้จ่ายฟุ่มเฟือยผิดปกติ และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปไหนมาไหนกับนายสุระเทพ ทาวะรมย์ ต่อมาพันตำรวจโทมนตรีได้รับรายงานว่าจำเลยที่ 1 ได้เงินมาจากการรับจ้างฆ่านายศานิตกับพวกผู้ตายประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยที่ 1 นำโดยพลตำรวจโทธนู หอมหวลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เมื่อมีเหตุสมควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำผิดคดีนี้ พลตำรวจโทธนูกับพวกจึงมีอำนาจจับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66(2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ทำให้การจับจำเลยที่ 1 เสียไป คดีฟังได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีพลตำรวจโทธนู หอมหวล และพลตำรวจตรีโสภณ สะวิคามิน พนักงานสืบสวนเป็นพยานเบิกความว่าอธิบดีกรมตำรวจเห็นว่านายศานิตผู้ตายเป็นนายกเทศมนตรี คนร้ายใช้วิธีการรุนแรงโหดเหี้ยมทารุณ จึงสั่งให้พยานทั้งสองกับพวกรวม 17 คน เป็นพนักงานสืบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนพื้นที่เกิดเหตุตามคำสั่งกรมตำรวจ จากการสืบสวนทราบว่านายศานิตผู้ตายถูกฆ่าเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมืองท้องถิ่นและจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคนร้าย วันที่ 31 กรกฎาคม2535 พยานทั้งสองกับพวกจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมของกลางหลายรายการ ชั้นจับกุมกับชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 และภาพถ่าย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้พลตำรวจโทธนูมีอำนาจถอนเงินฝากของจำเลยที่ 1จากธนาคาร ที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทำผิดคดีนี้เพื่อนำไปคืนผู้ว่าจ้างหรือใช้ทำศพผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 สิบเอกเฉลียว โชติมุข และจ่าสิบเอกพงษ์ศักดิ์พรหมสุทธิ เป็นพยานเบิกความต่อสู้ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ที่กองร้อยลาดตระเวนระยะไกล กองกำลังสุรนารี จังหวัดสุรินทร์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกไปที่ใด ดังนี้ คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิด คงมีบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นพยาน เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาเช่นนี้ จึงมีปัญหาว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจะมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เฉพาะเพียงคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายดาบตำรวจพิชิต วงศ์สูตินันท์ เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์ซึ่งเป็นเพื่อนจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าหลังวันเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยที่ 1 ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยผิดปกติจึงรายงานต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นต้นเหตุให้สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้เงินมาจากการรับจ้างฆ่านายศานิตกับพวกผู้ตาย ประกอบกับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและพาเจ้าพนักงานตำรวจชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพในวันที่จับจำเลยที่ 1 ได้นั่นเอง โดยปรากฏรายละเอียดข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเป็นเรื่องที่รู้แต่เฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพได้กระทำต่อหน้าพันโทสำเริง เกิดผล นายทหารพระธรรมนูญอีกด้วย เฉพาะภาพถ่ายหมาย ป.จ.7 จำเลยที่ 1 แสดงการติดระเบิดใต้ท้องรถยนต์ได้อย่างแนบเนียนสมจริง นอกจากนี้ในบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีบันทึกการสอบสวนเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ให้การเพิ่มเติมต่อหน้าร้อยเอกศุภชัย พจนศิลป์ นายทหารพระธรรมนูญ โดยจำเลยที่ 1ยืนยันให้การรับสารภาพตามคำให้การเดิม กับให้การเพิ่มเติมวันที่ 1 สิงหาคม 2535ว่า สำนึกผิดที่ได้กระทำไปมีความประสงค์ที่จะขอขมาสารภาพผิดต่อโจทก์ร่วมและญาติพี่น้องของนายศานิตผู้ตาย เจ้าพนักงานตำรวจได้จัดดอกไม้ธูปเทียนให้ จำเลยที่ 1จึงนำไปขอขมาสารภาพผิดว่าเป็นคนกดระเบิดรถยนต์แวนของนายศานิตผู้ตาย ซึ่งภาพถ่ายปรากฏสอดคล้องกับคำรับของจำเลยที่ 1 กับคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายธนา หล่อเกษมศานต์ พี่ชายนายศานิตผู้ตายพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ยืนยันว่าได้ไปดูจำเลยที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เห็นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพกับกราบขอขมาโจทก์ร่วมและบิดานายศานิตผู้ตาย ประการสำคัญพันโทสำเริง เกิดผลนายทหารพระธรรมนูญ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความเจือสมตรงกันว่า ก่อนที่พยานไปร่วมฟังการสอบสวนได้พบกับจำเลยที่ 1 จึงสอบถามเหตุการณ์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 บอกพยานว่าได้ให้การรับสารภาพไปแล้ว อีกประการหนึ่ง โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายธีระชัย ภูติธนารักษ์ พ่อค้าร้านห้างทองแสงมณีเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปที่ร้านของพยานเพื่อไถ่ทองคืนที่จำเลยที่ 1 ขายฝากไว้แก่ทางร้าน ซึ่งตรงกับบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มาไถ่ทองที่ร้านห้างทองแสงมณี เมื่อออกจากร้านพบรถยนต์แวนของนายศานิต ผู้ตายผ่านหน้าห้างสรรพสินค้าเพชรเกษมพลาซ่า และเลี้ยวเข้าซอย จำเลยที่ 1 จึงกดเครื่องบังคับคลื่นวิทยุ ทำให้รถยนต์แวนเกิดระเบิดขึ้น เป็นการสนับสนุนคำเบิกความของนายธีระชัยให้มีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ตั้งแต่แรกที่ถูกจับหรือชั้นสอบสวน เพิ่งยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเหตุต่าง ๆ ว่าจำเลยที่ 1 นำชี้บริเวณที่เผาทำลายเครื่องบังคับคลื่นวิทยุ (รีโมทคอนโทรล) แต่ไม่ปรากฏว่ามีเศษชิ้นส่วนโลหะในบริเวณที่เผาก็ดี ไม่ปรากฏว่าพลตำรวจโทธนูนำเงินที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ถอนเงินไปคืนผู้ว่าจ้างหรือนำไปช่วยทำศพผู้ตายก็ดี รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ที่ยึดไว้เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้คืนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วก็ดี และที่จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้ค่าจ้างจำนวน 300,000 บาท แต่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวหรือจำนวนใกล้เคียงก็ดี คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่มีพิรุธไม่มีน้ำหนักรับฟังนั้น เห็นว่า ในบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 นำชี้บริเวณที่เผาเครื่องบังคับคลื่นวิทยุเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 หลังจากวันที่จำเลยที่ 1 เผาเครื่องบังคับคลื่นวิทยุไปแล้วถึง 29 วัน และจำเลยที่ 1 นำซากที่เผาไปทิ้งในถังขยะอีกด้วย จึงย่อมจะไม่มีเศษชิ้นส่วนโลหะในบริเวณที่เผาเป็นธรรมดาส่วนการที่จำเลยที่ 1 ยอมมอบอำนาจให้พลตำรวจโทธนูถอนเงินฝากของจำเลยที่ 1จากธนาคารก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นความจริง แม้พลตำรวจโทธนูจะไม่ปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจก็ไม่มีผลทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมเสียไป นอกจากนั้นจำเลยที่ 1ได้ค่าจ้างจากการกระทำความผิดเป็นเงินสด จึงอาจแบ่งใช้จ่ายอย่างอื่น ๆ โดยไม่จำต้องนำเงินทั้งหมดฝากธนาคาร แต่ก็มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 นำเงินฝากธนาคารเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 และนางบัวผัน ศรีผุย ภริยาจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000บาท และ 110,000 บาท ตามลำดับ โดยนำเข้าฝากเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 หลังจากเกิดเหตุเพียง 8 วัน แม้จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินเดือนของกำลังพลจึงมีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 และภริยาจำเลยที่ 1 อีกด้วยซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของทางราชการ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่มีน้ำหนักรับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า ไม่ปรากฏว่านายสุระเทพผู้ประกอบวัตถุระเบิดเพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้กระทำความผิด เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำวัตถุระเบิดและติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อใด จัดหาวัตถุระเบิดมาจากที่ใด อย่างไร ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่จำเลยที่ 1 ประจำการอยู่ก็ยืนยันว่าไม่มีวัตถุระเบิดสูญหายไป น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพราะถูกบังคับนั้น เห็นว่า การทำวัตถุระเบิดที่บังคับจุดระเบิดด้วยคลื่นวิทยุไม่จำต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำวัตถุระเบิด ซึ่งพันตำรวจโทวันชัย เปรมฤดี สารวัตรงาน 4 งานเก็บกู้วัตถุระเบิด กองกำกับการ 3 กองสรรพาวุธกรมตำรวจ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า ผู้สามารถประกอบวัตถุระเบิดด้วยเครื่องวิทยุได้จะต้องมีความรู้ทางด้านไฟฟ้าเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อใด ได้วัตถุระเบิดมาจากที่ใดและไม่มีวัตถุระเบิดสูญหายไปจากหน่วยทหารที่จำเลยที่ 1 ประจำการอยู่นั้นล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ทำให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพเนื่องมาจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับ ไม่มีผลให้การรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมเปลี่ยนแปลงไป ข้อต่อสู้ต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ จากพยานแวดล้อมต่าง ๆ ดังกล่าวฟังประกอบกันโดยตลอดแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีลูกระเบิดจำนวน 1 ลูก ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองกับใช้ลูกระเบิดดังกล่าวฆ่านายศานิต นายอรุณและนายสง่าผู้ตาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่านายขจร นายวันชัย นายหวนนายพินิจศักดิ์และนายสุเทพตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นลักษณะที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธที่ร้ายแรงมีอำนาจแห่งการทำลายโดยกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใดกรณีจึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้อย่างไรก็ดีการที่จำเลยที่ 1 ใช้ลูกระเบิดในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) และมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 78 วรรคสามอีกด้วย โดยความผิดทั้ง 4 ฐาน คือฐานมีเครื่องกระสุนปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน มาตรา 78วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78วรรคสาม ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง แยกต่างกรรมกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และมิได้ปรับบทว่าจำเลยที่ 1มีความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย จึงไม่ชอบเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

จำเลยที่ 1 ฎีกาประการสุดท้ายว่า มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ตรวจยึดอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของกลางจากการไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตชายแดนที่จำเลยที่ 1 รับผิดชอบ จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวนั้น เห็นว่าพันตำรวจโทมนตรี จรัลพงศ์ สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความประกอบบันทึกการตรวจค้นเอกสารหมาย จ.19 ว่าได้เชิญพันโทสำเริง เกิดผล นายทหารพระธรรมนูญไปร่วมตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ด้วย ผลการตรวจค้นพบอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของกลางอยู่ใต้ที่นอน ซึ่งตรงกับบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.24 โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าอาวุธปืนลูกซองสั้นของกลางเป็นอาวุธปืนที่จำเลยหามาจากชาวบ้านเพื่อไว้ใช้ในการทำงานลับทางทหาร ข้อต่อสู้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการทหารมีผู้บังคับบัญชาคอยดูแลให้ความเป็นธรรม เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่และต่อหน้านายทหารพระธรรมนูญ ทั้งไม่มีเหตุให้สงสัยว่าจำเลยที่ 1 ถูกใส่ความ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนลูกซองสั้นของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง,วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนฯ ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 78 วรรคสาม ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share