คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนที่เป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 นั้นตามมาตรา 5 ประกอบด้วยมาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง โรงเรียนดังกล่าวขุดดินในที่ราชพัสดุขึ้นมาใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนโดยไม่ชอบเป็นการกระทำละเมิดต่อที่ราชพัสดุกระทรวงการคลังจึงเป็นผู้มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายกรมสามัญศึกษาที่โรงเรียนดังกล่าวสังกัดอยู่ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนพรตพิทยพยัตเป็นหน่วยงานของโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม2521 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2521จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวในโรงเรียนของโจทก์ ใช้รถแทรกเตอร์ขุดไถดินภายในบริเวณโรงเรียนพรตพิทยพยัต ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่โจทก์ขอสงวนไว้ใช้ในราชการสำหรับโรงเรียนพรตพิทยพยัต เป็นเหตุให้พื้นดินที่ขุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ120 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ปริมาตรดินที่ถูกขุดจำนวน 1,690ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และฝ่าฝืนสัญญาที่ทำไว้ต่อโจทก์ เพราะตามสัญญากำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหาสัมภาระต่าง ๆ รวมทั้งดินที่จะใช้ถมบริเวณที่จะทำการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ต้องนำมาจากภายนอกบริเวณโรงเรียนพรตพิทยาพยัตจำเลยที่ 2 รับราชการในสังกัดกรมโจทก์ โดยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต และในฐานะเป็นกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลบริเวณอาคารสถานที่และงานด้านการเงิน พัสดุครุภัณฑ์ และเอกสาร รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจและควบคุมการจ้างให้ดำเนินไปตามข้อกำหนดในสัญญา จำเลยที่ 3 ในฐานะนายช่างโยธา กองออกแบบและก่อสร้าง สังกัดโจทก์ ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวของโรงเรียนพรตพิทยพยัต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันจงใจส่งเสริมช่วยเหลือ ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขุดไถดินภายในโรงเรียนพรตพิทยพยัตขึ้นมาถมบริเวณที่ทำการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว อันเป็นการละเมิดและฝ่าฝืนข้อสัญญาที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าว โดยปกปิดไม่ให้โจทก์ทราบถึงการกระทำที่บกพร่องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวและได้ทำบันทึกรับรองว่าผู้ว่าจ้างได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จถูกต้องตามแบบและรายการตามข้อสัญญาหรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 2 และที 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ต่อการควบคุมดูแลบริเวณอาคารสถานที่งานด้านการเงิน พัสดุ ครุภัณฑ์ และเอกสารให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและฝ่าฝืนสัญญาต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเนื้องานถมดินตามข้อสัญญาและทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าถมดินปริมาตรดินถม 1,690 ลูกบาศ์กเมตรรวมค่าดินถม ค่าบดอัด กำไร และภาษีเข้าด้วยกัน คิดเป็นเงินราคาลูกบาศก์เมตรละ 90 บาท รวมเป็นเงิน 152,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน152,100 บาท คืนให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 152,100 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน11,001.20 บาท เป็นเงินรวม 163,101.20 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปจากต้นเงิน 152,100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ราชพัสดุเป็นของกระทรวงการคลังและกระทรวงการคลังหรือกรมธนารักษ์ไม่ได้เป็นโจทก์หรือร่วมเป็นโจทก์หรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยแต่งตั้งหรือมีคำสั่งใด ๆให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวตามแบบก่อสร้างที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องควบคุมดูแลการก่อสร้างดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 152,100บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย และโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีไม่ขาดอายุความนั้นล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2521 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวของโรงเรียนพรตพิทยพยัต พร้อมถมดินหรือถมทรายบริเวณการก่อสร้างด้วย ตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัตสังกัดกรมโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นนายช่างโยธา กองออกแบบและก่อสร้าง สังกัดกรมโจทก์ ระหว่างก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวโรงเรียนพรตพิทยพยัตนั้น ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับจ้างจะต้องนำดินจากที่อื่นมาถม ณ ที่ก่อสร้างอาคารเรียนแต่จำเลยที่ 1 กลับใช้รถแทรกเตอร์ขุดดันดินภายในบริเวณโรงเรียนขึ้นมาถมแล้วก่อสร้างอาคารเรียนจนเสร็จตามสัญญา โจทก์ได้รับมอบงานและชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้วที่โจทก์ฎีกาว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าของที่ราชพัสดุ อันเป็นที่ตั้งโรงเรียนพิพาท ซึ่งทางราชการสงวนไว้สำหรับสร้างโรงเรียน และใช้ประโยชน์เกี่ยวกับกิจการโรงเรียนโดยมอบให้โจทก์เป็นผู้ครอบครองดูแล เมื่อจำเลยที่ 1 มาขุดดินไปโดยพลการ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนในความผิดด้วยทำให้โจทก์ขาดประโยชน์และขาดความสะดวกในการใช้ทรัพย์เพื่อการศึกษาของเยาวชน โจทก์จึงได้รับความเสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนพิพาทเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ซึ่งตามมาตรา 5 ประกอบด้วยมาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยที่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดโดยจำเลยที่ 1 ขุดดินในที่ราชพัสดุขึ้นมาใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนและโจทก์นำสืบว่า โจทก์มีสิทธิใช้สอยที่ราชพัสดุดังกล่าว ดังนี้เห็นได้ว่าเหตุละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่อที่ราชพัสดุซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้โจทก์ฟ้องคดี โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม”
พิพากษายืน

Share