แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่1ไปขอรับโอนมรดกที่ดินแล้วแบ่งขายให้แก่จำเลยที่2อันเป็นทรัพย์มรดกของข.ซึ่งตกได้แก่โจทก์กับจำเลยที่1มีส่วนคนละกึ่งหนึ่งเมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมย่อมไม่ผูกพันส่วนของโจทก์จำเลยที่1ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิที่จะโอนขายแก่จำเลยที่2พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกของจำเลยที่1และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2ด้วยเมื่อจำเลยที่2ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค3โดยมิให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีราคา200,000บาททุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไข่ นางเก็บ พรหมจันทร์หรือแซ่เวา นายไข่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 132 และที่ดินแปลงอื่นอีก 1 แปลงหลังจากนายไข่ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันครอบครองที่ดินมรดกตลอดมา วันที่ 10 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 1ยื่นเรื่องราวขอรับมรดกของนายไข่ต่อเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าเป็นทายาทของนายไข่คนเดียว ซึ่งเป็นความเท็จ ปกปิดความจริงในข้อที่ว่าโจทก์เป็นทายาทอีกคนหนึ่งด้วย เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของนายไข่ให้แก่จำเลยที่ 1วันที่ 18 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว ออกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่2047 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 เนื้อที่ 200 ตารางวา โดยโจทก์ไม่ทราบทำให้โจทก์เสียเปรียบ วันที่ 17 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 132 จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 3 โดยพนักงานของจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาด้วยการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบขอให้แสดงว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 132ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2043 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นมรดกของนายไข่ตกได้แก่โจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2047 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนสัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอก รับจดทะเบียนจำนองที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่132 และ 2047 ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นมรดกได้แก่โจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กันให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในที่ดินดังกล่าวและเพิกถอนการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่2047 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 1 ไปขอรับโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่132 ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 3 ไร่ 94 ตารางวา แล้วแบ่งขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยแบ่งแยกออกเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 2047 เนื้อที่200 ตารางวา อันเป็นทรัพย์มรดกของนายไข่ซึ่งตกได้แก่โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนคนละกึ่งหนึ่ง เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม ย่อมไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 1 ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิที่จะโอนขายแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกของจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2047 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยมิให้เพิกถอนการโอนที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 2047 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 200 ตารางวา จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมาในชั้นฎีกามีจำนวนเท่าใด ในข้อนี้ปรากฎจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าได้ตกลงซื้อจากจำเลยที่ 1 ในราคา 200,000 บาท เมื่อคดีนี้จำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ไม่นำนางอารี พรหมจันทร์ที่ลงชื่อตามเอกสารหมาย จ.8 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นคนละคนกับโจทก์มาเบิกความ ก็ต้องเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกับโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ การที่จำเลยที่ 1 มีส่วนได้ที่ดินมรดกกับโจทก์คนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับ 1 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวาการที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่ 2 เพียง 200 ตารางวา และจำเลยที่ 2ได้มาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด นั้นเห็นว่า ข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก ฎีกา ของ จำเลย ที่ 2