คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่เป็นสินสมรสการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสหญิงมีสามีจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ตามลำพังตน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี เงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการขายที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการขายอันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าชดเชยด้วย นายจ้างกำหนดว่าเงินโบนัสพิเศษจะจ่ายให้เมื่อสิ้นปี ย่อมแสดงว่าลูกจ้างต้องทำงานจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมจึงจะมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างก่อนถึงสิ้นเดือนธันวาคมลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้ชำระเงินค่าเสียหาย ค่าชดเชยที่ขาดจำนวน เงินสะสม เงินรางวัลการขาย เงินโบนัสและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามี ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ จึงไม่ต้องรับผิดเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ขาดจำนวน เงินโบนัส ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นประการแรกตามอุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นใจความว่า หนังสือให้ความยินยอมของสามีตามเอกสารหมาย จ.9 ต้องมีในวันยื่นฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือยินยอมจากสามีโจทก์ในวันฟ้องและมิได้อ้างว่าสามีโจทก์ให้ความยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นหญิงมีสามี ฟ้องความโดยไม่ได้รับยินยอมจากสามี แต่สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่เป็นสินสมรส การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ตามลำพังตนหาจำต้องได้รับความยินยอมของสามีโจทก์ก่อนดังจำเลยอุทธรณ์ไม่อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 เกี่ยวกับโบนัสพิเศษก็ดี ข้อ 2.3เกี่ยวกับเงินค่านายหน้าก็ดี เป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวพันกับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน ดังต่อไปนี้ กล่าวคือสำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.3 ที่อุทธรณ์ว่า เงินค่านายหน้ามิใช่ค่าจ้างจะนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยมิได้นั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการขายเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการขายอันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเห็นว่า เงินค่านายหน้าจึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางคิดเงินค่านายหน้าของโจทก์เป็นค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 9,171.25 บาท นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยนั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกจำนวนค่านายหน้าเดือนละ 13,175 บาทนั้นเป็นอุทธรณ์โต้เถียงจำนวนค่านายหน้าที่โจทก์ได้รับจากจำเลยแต่ละเดือน ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ได้รับค่านายหน้าเฉลี่ยเดือนละ 9,171.25 บาท เช่นนี้อุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางนำเงินค่านายหน้าเดือนละ 9,171.25 บาท มารวมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้นเดือนละ 24,321.25บาท เป็นฐานคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ด้วยนั้นจึงชอบแล้ว
สำหรับเรื่องเงินโบนัสนั้น โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามฟ้อง ส่วนจำเลยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษจำนวน 6,000 บาทนั้น พิเคราะห์แล้วสำหรับเงินโบนัสนั้น ตามเงื่อนไขการจ้างเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2.5 ได้กำหนดเรื่องเงินโบนัสประจำปีว่า “เงินโบนัสประจำปีพนักงานจะได้รับโบนัสอย่างน้อยเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนซึ่งจะจ่ายให้ในวันสิ้นปี สำหรับปีแรกของการทำงาน เงินโบนัสนี้จะจ่ายให้ตามอัตราส่วนของระยะเวลาในการทำงานในปีนั้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่ว่าบริษัทจะได้พิจารณาเป็นอย่างอื่นในปีหนึ่งปีใด”แสดงว่าเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานนับถึงวันสิ้นปีครบหนึ่งปีจะได้รับเงินโบนัส เท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือน ส่วนลูกจ้างที่ทำงานไม่ครบหนึ่งปีหรือไม่ได้อยู่ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยจนถึงสิ้นปีจะไม่ได้รับเงินโบนัส เว้นแต่ลูกจ้างที่เข้าทำงานในปีแรกแม้ไม่ครบปีก็ได้รับเงินโบนัสตามส่วนตามอัตราส่วนของระยะเวลาทำงานในปีนั้นเมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยประมาณสิบห้าปี และได้ออกจากงานไปก่อนสิ้นปี 2530 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่จ่ายเงินโบนัสพิเศษให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share