แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเงินค่าสุราสำรอง โจทก์ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิและได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปแล้วประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนจึงมีว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยให้การว่าชำระแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้วประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เข้ามาดำเนินการในโรงงานโดยมีข้อตกลงในการผลิตและจำหน่ายสุรา ค่าตอบแทนพิเศษ ส่วนแบ่งกำไรสุทธิและข้อตกลงอื่น ๆ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิมิใช่ค่าเช่า ทั้งมิได้กำหนดจำนวนเงินกันไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จึงต้องใช้อายุความในบททั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด 10 ปี การที่จำเลยที่ 1 ได้ตอบหนังสือทวงถามของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1พร้อมจะจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่ยังส่งไม่ครบถ้วน พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าขอให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรในปัญหาเรื่องการคำนวณกำไรสุทธิก่อน แสดงว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่าการคำนวณส่วนแบ่งกำไรสุทธิของตนนั้นถูกต้องแล้ว มิได้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามที่ทวงถามแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ว่าจะนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้โจทก์นั้น ก็เป็นเพียงคำเสนอให้โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำผิดสัญญาเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนเกิน 10 ปี และ 5 ปี ซึ่งขาดอายุความในวันทำหนังสือดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวไม่ ทั้งหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่ขาดอายุความนั้น แม้จำเลยจะสามารถยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ก็ตาม แต่อายุความย่อมไม่ตัดรอน การหักกลบลบหนี้โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ได้ถ้าเวลาที่อาจจะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ได้นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของโจทก์จึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่ 23 มกราคม 2523ซึ่งเป็นเวลาที่อาจหักกลบลบหนี้ได้เป็นครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 342 วรรคสอง ในวันดังกล่าวเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปี 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้โจทก์บางส่วนจะขาดอายุความซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่เป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่เมื่อหนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่ขาดอายุความมีเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรองที่ศาลแพ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1มาฟ้องแย้งเรียกเงินค่าสุราสำรองจำนวนเดียวกันกับที่ได้ฟ้องในคดีดังกล่าวในคดีนี้อีก ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของกำไรสุทธิที่เป็นส่วนแบ่งของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่ชำระแทนโจทก์ โจทก์จะมีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินในส่วนนี้ และไม่อาจรับช่วงสิทธิจากกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังมาเรียกร้องได้อีกเช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งได้ สัญญาค้ำประกันข้อ 2 มีใจความว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้นทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดชำระไม่ใช่การผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้โจทก์นำเงินค่าสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้ตามข้อเสนอของโจทก์ แต่โจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันเพื่อใช้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายสุราจากโจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการผลิตและจำหน่ายสุราตามสัญญาที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตามประมวลรัษฎากรให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นธนาคารได้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2513ถึงปี พ.ศ. 2522 ให้ครบถ้วนถูกต้องตามสัญญา ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน102,662,939.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปีในต้นเงิน 68,121,078.96 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2526จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดในวงเงินไม่เกินธนาคารละ 8,125,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ตามสัญญาโดยไม่ผิดนัด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรในจำนวนเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธินั้น แต่โจทก์ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ได้ชำระภาษีต่อกรมสรรพากรแทนโจทก์ไปเป็นเงิน 93,914,990.86 บาท โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนให้จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี นับถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 176,799,296.77 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้จากจำนวนเงินค่าสุราสำรองซึ่งโจทก์ได้รับมาจากผู้เช่ารายใหม่เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2523 โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าสุราสำรองให้จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 102,916,169.09บาท จำเลยที่ 1 เคยฟ้องเรียกให้โจทก์ชำระค่าสุราสำรองพร้อมค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง โจทก์ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่าได้นำเงินค่าสุราสำรองไปหักกลบลบหนี้กับส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1ส่งไม่ครบ และเมื่อหักแล้วจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิ 9,729,653.24 บาท แต่ไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกเงินดังกล่าวในคดีนั้น กลับมาฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นมูลความแห่งคดีเดียวกัน และไม่กล่าวถึงการหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องโจทก์กับให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ชำระแทน 176,799,296.77บาท และค่าสุราสำรอง 102,916,169.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปีของต้นเงิน 93,914,990.86 บาท และ74,094,977.67 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1โดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบ จึงหลุดพ้นความรับผิดฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอชำระหนี้โจทก์ได้โจทก์ชอบที่จะบังคับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1มีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่กรมสรรพากร มิใช่เป็นการชำระภาษีแทนโจทก์ ฟ้องแย้งขาดอายุความ ฟ้องแย้งเงินค่าสุราสำรองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14267/2526 ของศาลแพ่งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 8,061,737.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดชำระให้โจทก์ธนาคารละ 8,125,000 บาท คำขอของโจทก์นอกจากนี้และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่โจทก์มิได้ฟ้องแย้งเรียกเงินค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิมาในคดีแพ่งหมายเลขดำ หมายเลขแดงที่ 14267/2527ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรอง แต่กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิในคดีนี้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น เห็นว่าในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรองโจทก์ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิและได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปแล้ว ประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวจึงมีว่า จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1ชำระไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้การว่าชำระแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวและคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ส่วนปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าตามสัญญาเช่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เข้ามาดำเนินการในโรงงานสุราบางยี่ขันโดยมีข้อตกลงในการผลิตและจำหน่ายสุรา ค่าตอบแทนพิเศษ ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิ และข้อตกลงอื่น ๆ อีกหลายประการสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิมิใช่ค่าเช่า ทั้งมิได้กำหนดจำนวนเงินกันไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา กรณีก็ไม่ต้องด้วยอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จึงต้องใช้อายุความในบททั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด10 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2526 จึงมีเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิบางปี และดอกเบี้ยบางส่วนเกิน 10 ปี และ 5 ปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระและขาดอายุความแล้ว การที่จำเลยที่ 1ได้ตอบหนังสือทวงถามของโจทก์มาตามหนังสือลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2523มีความว่า “ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปีก่อนมาคำนวณหักเป็นรายจ่ายของปีถัดไปได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรอยู่ ขณะนี้คดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาพิพากษาว่ารายจ่ายส่วนแบ่งกำไรต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19) แล้ว จำเลยที่ 1 ก็พร้อมจะจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่ยังส่งไม่ครบถ้วน พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ตามสัญญาเช่าและตามกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องชำระทันที ขอให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาในประเด็นนี้ก่อน และเพื่อเป็นหลักประกันจะได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่เชื่อถือได้มามอบไว้แก่โจทก์ต่อไป” นั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 พร้อมจะจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่ยังส่งไม่ครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาเช่า แต่ก็มีเงื่อนไขว่าขอให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรในปัญหาเรื่องการคำนวณกำไรสุทธิก่อน แสดงว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าการคำนวณส่วนแบ่งกำไรสุทธิของตนนั้นถูกต้องแล้ว มิได้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามที่ทวงถามแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ว่าจะนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้โจทก์นั้น ก็เป็นเพียงคำเสนอให้โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำผิดสัญญาเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่เกิน 10 ปี และ 5 ปีซึ่งขาดอายุความไปแล้วในวันทำหนังสือดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวไม่ ทั้งหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่ขาดอายุความนั้น แม้จำเลยจะสามารถยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ก็ตามแต่อายุความย่อมไม่ตัดรอนการหักกลบลบหนี้ โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ได้ถ้าเวลาที่อาจจะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ได้นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความข้อเท็จจริงได้ความจากคำรับของโจทก์จำเลยว่า ในวันที่ 23 มกราคม2523 โจทก์ได้รับเงินค่าสุราสำรองซึ่งจะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1เป็นเงิน 74,094,977.67 บาท และในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1ค้างชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปี พ.ศ. 2514 ถึงปี พ.ศ. 2522พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์คิดไม่เกิน 5 ปี รวมเป็นเงิน82,156,715.56 บาท เมื่อปรากฏว่าในวันดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่ไม่เกิน5 ปี ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 344 โจทก์ได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้วตามหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 การแสดงเจตนาของโจทก์จึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปถึง วันที่ 23 มกราคม 2523 ซึ่งเป็นเวลาที่อาจหักกลบหนี้กันได้เป็นครั้งแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 342 วรรคสอง ในวันดังกล่าวเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปี พ.ศ. 2522อยู่อีก 8,061,737.89 บาท นับจนถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปีคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตลอดอายุสัญญา แม้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้โจทก์บางส่วนจะขาดอายุความซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่เป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่เมื่อหนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่ขาดอายุความมีเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรองที่ศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14267/2527 คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 มาฟ้องแย้งเรียกเงินค่าสุราสำรองจำนวนเดียวกันกับที่ได้ฟ้องในคดีดังกล่าวในคดีนี้อีก ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ส่วนที่จำเลยที่ 1ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของกำไรสุทธิที่เป็นส่วนแบ่งของโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวแก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ไปแล้วนั้น เห็นว่า กำไรสุทธิดังกล่าวเป็นเงินรายได้ของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่ชำระแทนโจทก์ โจทก์จะมีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินในส่วนนี้ และไม่อาจรับช่วงสิทธิจากกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังมาเรียกร้องได้อีกเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 1จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งได้
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ยินยอมให้ผ่อนเวลาแก่จำเลยที่ 1 โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ และโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 นำเงินค่าโอนขายสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้ เป็นการตกลงเสนอเงื่อนไขวิธีการชำระหนี้เป็นอย่างอื่นหรือเป็นการผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3ทราบเป็นการผิดเงื่อนไขตามข้อ 2 ของหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่าสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2มีใจความว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดชำระไม่ใช่การผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ สำหรับกรณีที่ว่าโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 นำเงินค่าโอนขายสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้เป็นการตกลงเสนอเงื่อนไขวิธีการชำระหนี้เป็นอย่างอื่นนั้น เห็นว่า จากหนังสือโต้ตอบระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้โจทก์นำเงินค่าสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้ตามข้อเสนอของโจทก์แต่ประการใด แต่โจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน