คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่บริษัท บ. ซึ่งมี ฮ.เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินบริษัท บ. โดย ฮ.ได้มอบอำนาจให้พ. ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เช่นนี้บริษัท บ.จึงเป็นผู้เสียหาย ซึ่งได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วแม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องว่า ฮ. เป็นผู้เสียหายก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ สาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้หลงต่อสู้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริง ก็ชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อ ข. ไม่สามารถนำเพชรที่รับไปจากผู้เสียหายเพื่อนำไปขายมาคืนให้ผู้เสียหายได้ จำเลยที่ 3 จึงได้ทำบันทึก ข้อตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ได้นำเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงิน 60,000 บาทพร้อมเงินสดอีก 46,000 บาท มาแลกเช็คฉบับแรกของจำเลยที่ 3 จากผู้เสียหายการที่ ข. เป็นหนี้ค่าเพชรแก่ผู้เสียหายแล้วจำเลยทั้งสามเข้ามารับผิดชำระหนี้แทนแก่ผู้เสียหาย ก็มุ่งประสงค์มิให้ ข. ต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3กับผู้เสียหาย จึงเป็นการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ออกและมอบให้แก่ผู้เสียหายจึงเป็นเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อธนาคารตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้ผู้เสียหายดังกล่าวปฏิเสธ การจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ให้เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือนปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 20,000 บาท รวม 3 กระทง รวมปรับ 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง รวมจำคุก 3 เดือนจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า เดิมบริษัทภัทรกมล จำกัดโดยนางสาวขวัญกมล กิจเยาว์สงค์ กรรมการผู้มีอำนาจได้นำเพชรจากบริษัทเบนเฮอไดมอนด์ จำกัด ผู้เสียหายไปขายโดยมีข้อตกลงว่าหากเพชรที่นำไปขายให้แก่ลูกค้าขายไม่ได้นางสาวขวัญกมลจะต้องคืนเพชรแก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าหลังจากนางสาวขวัญกมลนำเพชรไปขายให้แก่ลูกค้าแล้วไม่สามารถนำเพชรคืนแก่ผู้เสียหายได้ คิดเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท ผู้เสียหายจึงนำเช็คที่นางสาวขวัญกมลเป็นผู้สั่งจ่ายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2537 จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับผู้เสียหายโดยออกเช็คชำระค่าเพชรที่นางสาวขวัญกมลเป็นหนี้แทนนางสาวขวัญกมลให้แก่ผู้เสียหายตามเอกสารหมาย ล.16 ครั้นวันที่ 6 มกราคม 2538 จำเลยที่ 3 ได้นำเพชรบางส่วนมาคืนผู้เสียหาย เมื่อหักชำระค่าเพชรแล้วยังมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่อีก 286,460 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงออกเช็คเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ให้แก่ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คเอกสารหมาย จ.11 และมอบเงินสดอีก 46,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดผู้เสียหายได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.11 ให้แก่บริษัทเบนเฮอไดมอนด์ จำกัดซึ่งมีนายฮาเรซ กุมาร ปาเต็ล เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คหมาย จ.11 บริษัทเบนเฮอไดมอนด์ จำกัดโดยนายฮาเรซ กุมาร ปาเต็ล ได้มอบอำนาจให้นางสาวพันธินีย์ จำเนียรไวย ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจากข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า บริษัทเบนเฮอไดมอนด์ จำกัด เป็นผู้เสียหายซึ่งได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องว่านายฮาเรซ กุมาร ปาเต็ล เป็นผู้เสียหาย ก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้หลงต่อสู้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริง ก็ชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อนางสาวขวัญกมลไม่สามารถนำเพชรที่รับไปจากผู้เสียหายเพื่อนำไปขายมาคืนให้ผู้เสียหายได้ จำเลยที่ 3 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ได้นำเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาคลองเตย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538สั่งจ่ายเงิน 60,000 บาท พร้อมเงินสดอีก 46,000 บาท มาแลกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย ฉบับแรกของจำเลยที่ 3จากผู้เสียหาย ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 และเช็คเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.11 การที่นางสาวขวัญกมลเป็นหนี้ค่าเพชรแก่ผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งสามเข้ามารับผิดชำระหนี้แทนแก่ผู้เสียหายก็มุ่งประสงค์มิให้นางสาวขวัญกมลต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับผู้เสียหายจึงเป็นการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เช็คที่จำเลยที่ 1 ออกและมอบให้แก่ผู้เสียหายจึงเป็นเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหาเป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ดังที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ไม่ เมื่อธนาคารตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้ผู้เสียหายดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share