แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอันจะอ้างได้โจทก์มีอำนาจที่จะบอกกล่าวให้ออกไปได้ทันที จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. ม.560 โดยถือว่าเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งขอให้ขับไล่เช่นเดียวกันดังนี้ เมื่อเป็นการขับไล่ออกจากที่ดินคนละแปลงฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จะฟ้องแย้งมาในคำให้การไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและให้ยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงจากคำคู่ความรับกันว่า หลังจากโจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1095 ซึ่งมีบ้านหลังหนึ่งของจำเลยที่ 2 ปลูกอยู่และจำเลยทั้งสี่อาศัยมาก่อนเวลาที่โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายใน 7 วัน และจำเลยทั้งสี่ได้รับคำบอกกล่าวแล้ว
คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า การที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายใน7 วัน เป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 560 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 560 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า หากค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือนหรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าให้ชำระค่าเช่า ซึ่งกำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน แต่กรณีที่จำเลยที่ 2 ปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอันจะอ้างได้นั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะบอกกล่าวให้ออกไปได้ทันที ความในมาตรา 560 หาใช่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังฎีกาของจำเลยทั้งสี่ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาจำเลยที่จะต้องวินิจฉัยอีกข้อหนึ่งว่า ฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมอันศาลพึงรับไว้พิจารณาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องเดิมโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่อยู่อาศัยในที่ดินกรรมสิทธิ์ของโจทก์โฉนดเลขที่ 1095โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่ ฟ้องแย้งของจำเลยอ้างว่าโจทก์ได้อยู่อาศัยในที่ดินกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 1092 โดยไม่มีสิทธิขอให้ขับไล่เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นการขับไล่ออกจากที่ดินและแปลงเช่นนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในอายุความนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน