คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหก เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทโดยมิได้แบ่งแยกเนื้อที่ดินที่จำเลยแต่ละคนบุกรุก ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบมาตรา 245(1)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม2534 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2534 จำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าไม้เบญจพรรณนำไม้ไปเผาถ่าน และไถดินปลูกพืชลงบนที่ดินของโจทก์ที่ 1 บางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2376 เลขที่ดิน 57 เลขที่ 2381เลขที่ดิน 62 เลขที่ 2383 เลขที่ดิน 71 และเลขที่ 2385 เลขที่ดิน 73 และที่ดินของโจทก์ที่ 2 บางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2380เลขที่ดิน 61 เลขที่ 2382 เลขที่ดิน 70 เลขที่ 2384 เลขที่ดิน 72 และเลขที่ 2379เลขที่ดิน 60 รวมจำนวนที่ดินที่จำเลยทั้งหกบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสองประมาณ 138ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ซึ่งโจทก์ไปแจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2534 และวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2535 การกระทำของจำเลยทั้งหกทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเป็นค่าเสียหายไร่ละ 1,000 บาท ต่อเดือน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2376 เลขที่ดิน 57เลขที่ 2381 เลขที่ดิน 62 เลขที่ 2383 เลขที่ดิน 71 เลขที่ 2385 เลขที่ดิน 73 เลขที่2380 เลขที่ดิน 61 เลขที่ 2382 เลขที่ดิน 70 เลขที่ 2384 เลขที่ดิน 72 และเลขที่2379 เลขที่ดิน 60 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ต่อเดือน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงินค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยทั้งหกไม่เคยร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง ไถ หรือกระทำละเมิดใด ๆ ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2376เลขที่ดิน 57 เลขที่ 2381 เลขที่ดิน 62 เลขที่ 2383 เลขที่ดิน 71 เลขที่ 2385 เลขที่ดิน73 เลขที่ 2380 เลขที่ดิน 61 เลขที่ 2382 เลขที่ดิน 70 เลขที่ 2384 เลขที่ดิน 76 (ที่ถูก72) และเลขที่ 2379 เลขที่ดิน 60 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์ในที่ดินพิพาท เนื้อที่ 138 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ในอัตราไร่ละ500 บาท ต่อเดือน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงินค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายปี ในอัตราไร่ละ 500 บาท ต่อปี โดยไม่มีดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2376 เลขที่ดิน 57 เลขที่ 2381 เลขที่ดิน 62 เลขที่ 2383 เลขที่ดิน 71 เลขที่ 2385เลขที่ดิน 73 โจทก์ที่ 2 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2380 เลขที่ดิน 61 เลขที่ 2382 เลขที่ดิน 70 เลขที่ 2384เลขที่ดิน 72 เลขที่ 2379 เลขที่ดิน 60 จำเลยทั้งหกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนรวมเนื้อที่ 138 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารจ.ล.1 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่… พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีนี้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฟังขึ้น และเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทโดยมิได้แบ่งแยกเนื้อที่ดินที่จำเลยแต่ละคนบุกรุก ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245(1)”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยทั้งหกได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้น ให้โจทก์ทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยทั้งหก

Share