คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผู้ซื้อผิดสัญญาซื้อขายไม่ชำระราคารถยนต์ตามกำหนดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้จำเลยใช้เงินที่ขาดจำนวนตามสัญญาซื้อขายหลังจากที่ขายรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแล้วจำนวนหนึ่งกับค่าขาดประโยชน์ที่จะให้บุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลจากการเลิกสัญญาไม่ใช่ค่าส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)และกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีหรือไม่ไม่ทราบ ไม่รับรอง หนังสือรับรองนิติบุคคลและใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจำเลยปฏิเสธ นั้น เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ผ่อนส่งจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่าค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เพียงพอกับความเสียหายแล้วและคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องในกรณีเช่นนี้เท่ากับโจทก์อยู่ในฐานะเป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าส่งมอบของ จึงต้องฟ้องบังคับเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวจึงต้องถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ สำหรับปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจึงขอให้จำเลยใช้เงินที่ขาดจำนวนตามสัญญาซื้อขาย หลังจากที่ขายรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแล้วเป็นเงิน 96,472 บาท กับค่าขาดประโยชน์ที่จะให้บุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์เป็นเวลา 19 เดือนเป็นเงิน 38,000 บาท เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนี้เห็นได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลจากการเลิกสัญญา หาใช่ค่าส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ดังที่จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรอง โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ กิจปราโมทย์ ฟ้องคดีหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรองหนังสือรับรองนิติบุคคล และใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จำเลยปฏิเสธเห็นว่าเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยมาตลอดมาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อนี้
ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 จะต้องผ่อนส่งให้โจทก์เป็นจำนวน 30 งวดแต่จำเลยที่ 1 ผ่อนส่งมาเพียง 11 งวด ก็ผิดนัดตลอดมา ซึ่งราคารถยนต์ตามสัญญาระบุว่ามีราคา 116,010 บาท เมื่อหักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนส่งไปแล้ว 11 งวดดังกล่าว ศาลชั้นต้นคงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์อีก 34,500 บาท ซึ่งนับเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share