คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3732/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อน ร่วมกันรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับพวกรวม 6 คน ในฐานะที่จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ทำสัญญาจำนองที่ดินรวมที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ไว้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยอื่นในคดีก่อนร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองรวมทั้งที่ดินที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยที่ 6 ในคดีก่อนจนกว่าจะครบ ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า การมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้ละคดีก่อนจึงมีมูลมาจากสัญญาจำนองฉบับเดียวกัน เพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนว่า โจทก์ (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) และจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่หาได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆ ที่โจทก์อาจต่อสู้ไว้ในคดีก่อนเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทได้ ฉะนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจมาแสดง การทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อนก็ตาม แต่ตามเนื้อหาแห่งคดีที่โจทก์นำสืบและเนื้อความแห่งฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์โต้เถียงความถูกต้องของสัญญาจำนองที่ดินพิพาท และโจทก์ไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าว คดีทั้งสองจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไว้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่นั่นเอง เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นบุคคลที่โจทก์อ้างว่ารับมอบอำนาจซึ่งสืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับจำนองที่ดินพิพาท จากโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างในวงเงิน 19,800,000 บาท ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองโดยไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงมาแสดง นิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 จำนวน 8,000,000 บาท โดยในการทำนิติกรรมขึ้นเงินจำนองดังกล่าวปรากฏว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 มาทำนิติกรรมขึ้นเงินจำนองกับโจทก์ ไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงมาแสดง นิติกรรมขึ้นเงินจำนองดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สาขาอุบลราชธานี ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้าง มีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ การทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยชอบ จึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 เคยฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างและโจทก์กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยในมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกัน และบังคับจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์คดีนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ผู้จำนองในคดีก่อนให้การต่อสู้คดีแต่มิได้โต้แย้งถึงการทำสัญญา และจดทะเบียนจำนองที่ดินว่าไม่ถูกต้องหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างและโจทก์กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 คดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยบังคับเอาจากทรัพย์จำนองของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยที่ 1 เคยยื่นฟ้องโจทก์กับพวกให้ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 35565 ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 35565 ดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของโจทก์กับพวกจนกว่าจะครบตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1362/2545 ของศาลชั้นต้นและคดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1362/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนร่วมกันรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างกับพวกรวม 6 คน ในฐานะที่จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 35565 ตำบลคำน้ำแซว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และที่ดินแปลงอื่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้าง และคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ทำสัญญาจำนองที่ดินรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 35565 ที่พิพาทในคดีนี้ไว้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยอื่นในคดีก่อนร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองรวมทั้งที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยที่ 6 ในคดีก่อนจนกว่าจะครบ ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า การมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท ดังนี้ฟ้องโจทก์คดีนี้และคดีก่อนจึงมีมูลมาจากสัญญาจำนองฉบับเดียวกันเพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนว่า โจทก์ (จำเลยที่ 2 ในคดีก่อน) ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้าง ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) และจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่หาได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งๆ ที่โจทก์อาจต่อสู้ไว้ในคดีก่อนเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทได้ ฉะนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจมาแสดง การทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อนก็ตาม แต่ตามเนื้อหาแห่งคดีที่โจทก์นำสืบและเนื้อความแห่งฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์โต้เถียงความถูกต้องของสัญญาจำนองที่ดินพิพาท และโจทก์ไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าว คดีทั้งสองจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างไว้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่นั่นเอง เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นบุคคลที่โจทก์อ้างว่ารับมอบอำนาจซึ่งสืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1362/2545 ของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และคดีไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสาม

Share