คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. 2486 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2493 ก็เป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94, 96 ที่ให้คนต่างด้าวจำหน่ายได้ ถ้าไม่จำหน่ายก็ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายได้ เมื่อที่ดินนั้นคนต่างด้าวจำหน่ายได้ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของคนต่างด้าวผู้ล้มละลาย ก็ย่อมจำหน่ายที่ดินนั้นในการบังคับคดีล้มละลายได้เช่นเดียวกัน
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นของบริษัทหลิ่มติมโหมวผู้ล้มละลาย แต่ลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนในหน้าโฉนดแทนบริษัทสืบต่อมาจากนางสาวสุธีระ ซึ่งเป็นผู้รับโอนจากเจ้าของเดิมแทนบริษัท ขอให้บังคับให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์หรือผู้ที่โจทก์หรือกองหมายจะขายให้
จำเลยสู้ว่าจำเลยได้รับโอนจากนางสาวสุธีระโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
ศาลแพ่งเห็นว่า ผู้ถือหุ้นบริษัทนี้มี ๗ คน เป็นคนสัญชาติไทยคนเดียวหรือจำเลย นอกนั้นเป็นคนต่างด้าว ตามฟ้องของโจทก์เป็นการรับอยู่ในตัวว่า บริษัทมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานในการซื้อที่รายนี้ จึงได้ใช้ชื่อผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัทกับเจ้าของเดิมเป็นโมฆะ เพราะเป็นการขัดต่อบทกฎหมายซึ่งเป็นบทบัญญัติ เพื่อความปลอดภัยของบ้านเมือง นับว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีโดยที่ประชุมใหญ่แล้ว ตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ มาตรา ๕ บัญญัติว่า คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินได้ก็ด้วยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้” มาตรา ๖ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๕ คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจการในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม หรือเพื่อใช้ในการศาสนา การกุศล หรือใช้เป็นสุสาน หรือฌาปนสถาน ได้ตามข้อกำหนด เงื่อนไขและปริมาณเนื้อที่ซึ่งกำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้หรือโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ และต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๓ ซึ่งให้เพิ่มมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ มีความว่า “มาตรา ๑๑ ทวิ บทบัญญัติมาตรา ๕ ถึงมาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ นั้น ให้นำมาใช้บังคับแก่นิติบุคคลต่อไปอีกด้วยคือ
(๑) บริษัทจำกัดซึ่งมีทุนของคนต่างด้าวเกินกว่าร้อยละห้าสิบ หรือผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี ฯลฯ” มาตรา ๖ บัญญัติว่า “นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๘๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทหลิ่มติมโหมว จำกัด มีคนต่างด้าวถือหุ้น อยู่เกินกึ่งจำนวนผู้ถือหุ้น จึงตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งบัญญัติว่า คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินได้ตามข้อกำหนดเงื่อนไข และปริมาณเนื้อที่ซึ่งกำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้หรือโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของบริษัทลูกหนี้ตามฟ้องโจทก์โดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕ และ ๖ แห่งพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อบทกฎหมายอันเป็นบทบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของบ้านเมือง ไม่มีทางที่บริษัทลูกหนี้จะได้กรรมสิทธิ์หรือรับโอนกรรมสิทธิ์ จึงไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๙ ได้บัญญัติในกรณีที่คนต่างด้าว ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ที่ดินแล้วเลิกไม่ใช้ที่ดิน หรือใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ ต้องจำหน่ายที่ดินนั้นภายในเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ฯลฯ ถ้ายังไม่จำหน่ายตามกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดการขายทอดตลาด เงินที่ขายทอดตลาดนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ให้คืนแก่เจ้าของที่ดิน แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ไม่ให้ที่ดินคงตกอยู่ในมือของคนต่างด้าวผู้ไม่ได้รับอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔ (๑๓) (๑๔) โดยมีประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติขึ้นใช้แทน มีความในมาตรา ๙๔ ว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้มีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลมและมาตรา ๙๖ บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้มาซึ่งที่ดินแห่งใดในฐานะเป็นเจ้าของแทนคนต่างด้าวให้อธิบดีมีอำนาจทำการจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๓ มีบทบัญญัติเฉพาะกรณีที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้มีและใช้ที่ดินแล้วเลิกไม่ใช้ที่ดินนั้น หรือใช้ที่ดินเพื่อการอื่นโดยไม่รับอนุญาต หรืออนุญาตที่ได้รับใหม่ให้มีเนื้อที่น้อยกว่าเดิม ต้องจำหน่ายที่ดินภายในกำหนด มิฉะนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขายทอดตลาดที่ดินนั้นได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติถึงกรณีที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้มีและใช้ที่ดินแล้ว เลิกไม่ใช้ที่ดินนั้น หรือใช้ที่ดินเพื่อการอื่นโดยไม่รับอนุญาต หรืออนุญาตที่ได้รับใหม่ให้มีเนื้อที่น้อยกว่าเดิม ต้องจำหน่ายที่ดินภายในกำหนด มิฉะนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขายทอดตลาดที่ดินนั้นได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติถึงกรณีที่คนต่างด้าวมีที่ดินโดยไม่รับอนุญาตตั้งแต่แรกโดยเฉพาะประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙๔ และ ๙๖ จึงบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นให้บริบูรณ์ และใช้บังคับถึงที่ดินที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ และ พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้นด้วย เพราะมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ ยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่ที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติ และได้แสดงหลักฐานแห่งสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น ที่ดินที่คนต่างด้าวได้มานอกจากนั้นย่อมถือเป็นที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙๔ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาก่อนหรือหลังวันใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ถึงแม้คดีนี้จะมีข้ออ้างว่าที่ดินที่พิพาทบริษัทลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้มาโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็เป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙๔, ๙๖ ที่ให้คนต่างด้าวจำหน่ายได้ ถ้าไม่จำหน่าย ก็ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายได้ ถ้าไม่จำหน่าย ก็ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายได้ เมื่อที่ดินนั้นคนต่างด้าวจำหน่ายได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ล้มละลาย ก็ย่อมจำหน่ายที่ดินนั้นในการบังคับคดีล้มละลายได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่า การโอนที่ดินมาเป็นของบริษัทลูกหนี้ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแตกต่างกันมานั้นหรือไม่ เพราะคดีไม่เป็นปัญหาถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรม และหนี้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ดิน ทั้งเป็นคดีที่โจทก์มิได้มีคำขอให้โอนที่ดินไปเป็นของคนต่างด้าวซึ่งจะทำมิได้ แต่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายที่ดินนั้นเพื่อเอาเงินเข้าเป็นกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายได้ ไม่ว่ากรณีคนต่างด้าวได้ที่ดินมาจะเป็นโมฆะหรือไม่ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อโต้เถียงข้ออื่นของคู่ความ ศาลชั้นต้นชอบที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาใหม่ตามข้อกฎหมายข้างต้น ผลแห่งคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ เป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้น พิจารณาสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share