คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมมีความว่า “ฯลฯ ข้อ 1 (1) ที่ดินหนึ่งแปลงตาม ส.ด.1 เลขที่ 64 อยู่หมู่ 4 ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 4 วา ฯลฯ ข้อ 3 ทรัพย์สินตามข้อ 1 ข้าพเจ้าขอมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่บุตรของข้าพเจ้าจำนวน 2 คน ตามส่วนดังนี้ 1. ที่ดินตามข้อที่ 1(1) ทางทิศตะวันออก จำนวนเนื้อที่ดิน 2 ไร่ ให้แก่นายจำลอง เดชเรืองศรี 2. ที่ดินตามข้อ 1(1) ส่วนที่เหลือทั้งหมดจากที่แบ่งให้นายจำลอง เดชเรืองศรี แล้วข้าพเจ้าขอยกให้แก่นางบุญช่วย พันธ์เขียว แต่ผู้เดียวฯลฯ ” ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีที่ดินแปลงเดียว ที่ดินมรดกแปลงนี้มีเนื้อที่ถึง 18 ไร่ 93 ตารางวา ตามพินัยกรรมข้อ 1(1) เจ้ามรดกเจตนาทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งแปลงที่ตนมีอยู่ให้แก่โจทก์จำเลย การที่ระบุเนื้อที่ไว้เพียง 6 ไร่ 2 งาน 4 วา ก็เห็นได้ว่าเป็นการระบุเนื้อที่ตาม ส.ค.1 ที่แจ้งไว้แต่เดิม ซึ่งอาจเป็นการประมาณ ย่อมมากหรือน้อยจากความจริงก็ได้ ไม่มีเหตุที่เจ้ามรดกตั้งใจทำพินัยกรรมเฉพาะ 6 ไร่ 2 งาน 4 วา ส่วนที่เหลือให้เป็นมรดกไม่มีพินัยกรรม โจทก์ (นายจำลอง) จึงมีสิทธิได้รับที่ดินมรดกเพียง 2 ไร่ด้านตะวันออก ที่ดินที่เหลือทั้งหมดจากที่แบ่งให้โจทก์ จึงตกเป็นของจำเลย (นางบุญช่วย) ตามพินัยกรรมข้อ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรนายอาจ นางนิลซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว มีทรัพย์คือที่ดินปลูกบ้านและทำสวน ๑ แปลง ฯลฯ นางนิลทำพินัยกรรมยกที่ดินให้โจทก์จำเลยคนละ ๒ ไร่ อีก ๒ ไร่ให้เป็นของผู้อุปการะศพนางนิล มีที่เหลือเป็นมรดก ๑๓ ไร่เศษ โจทก์ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรมและนอกพินัยกรรม จำเลยไม่ยอมแบ่ง ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยแบ่งที่ดิน ๒ ไร่ ตามพินัยกรรม ราคา ๑,๐๐๐ บาทให้โจทก์ แบ่งเรือนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งราคา ๕,๐๐๐ บาท และแบ่งที่ดินที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมอีก ๖ ไร่ ๒ งานเศษ ราคา ๓,๒๕๐ บาทให้โจทก์ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ที่ดินมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ นางนิลทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงนี้ด้านตะวันออกให้โจทก์ ๒ ไร่ ที่เหลือทั้งหมดให้จำเลย จำเลยยอมแบ่งให้ตามพินัยกรรม แต่โจทก์ไม่ยอม
ทางพิจารณาโจทก์ยอมสละข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรือนพิพาทและยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้จัดการศพนางนิลมีปัญหาโต้เถียงกันเฉพาะที่ดินมรดกว่า โจทก์มีส่วนได้เท่าใด ที่ดินมรดกมีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๙๓ ตารางวาตามแผนที่กลางที่พนักงานศาลทำขึ้น
โจทก์จำเลยขอให้ศาลตีความพินัยกรรมของนางนิลเจ้ามรดกว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเพียง ๒ ไร่ หรือเกินกว่า ๒ ไร่ ขอให้ถือเป็นข้อแพ้ชนะ โดยโจทก์จำเลยต่างไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินตามพินัยกรรมของนางนิลเจ้ามรดกยกให้แก่โจทก์จำเลยหมายเฉพาะที่ดิน ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา ที่กล่าวในพินัยกรรมข้อ ๑(๑) เท่านั้น เมื่อหักออกจากที่ดินทั้งหมด ๑๘ ไร่เศษแล้ว ที่ดินที่เหลือย่อมเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมซึ่งต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยอีกคนละครึ่ง พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตามพินัยกรรม ล.๑ ข้อ ๑ (๑) ด้านตะวันออกให้โจทก์ ๒ ไร่ ที่เหลืออีก ๔ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา ตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม และให้จำเลยแบ่งที่ดินตามที่พิพาทเมื่อหัก ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา ออกแล้วให้โจทก์อีกกึ่งหนึ่ง ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ มีข้อความว่า
ข้อ ๑. ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่กรรมลงไปแล้ว มรดกทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่ และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
๑. ที่ดินหนึ่งแปลงตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๖๔ อยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง เนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ วา
ข้อ ๒. ………………….ฯลฯ………………..ฯลฯ
ข้อ ๓. ทรัพย์สินตามข้อ ๑ ข้าพเจ้าขอมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่บุตรของข้าพเจ้าจำนวน ๒ คนตามส่วนดังนี้
๑. ที่ดินตามข้อที่ ๑(๑) ทางด้านทิศตะวันออก จำนวนเนื้อที่ดิน ๒ ไร่ให้แก่นายจำลอง เดชเรืองศรี
๒. ที่ดินตามข้อ ๑(๑) ส่วนที่เหลือทั้งหมดจากการที่แบ่งให้นายจำลอง เดชเรืองศรี แล้ว ข้าพเจ้าขอยกให้แก่นางบุญช่วย พันธ์เขียว แต่ผู้เดี่ยว …………ฯลฯ……………
มีปัญหาตามพินัยกรรมของนางนิลเจ้ามรดก โจทก์มีสิทธิจะได้รับมรดกที่ดินเพียง ๒ ไร่ หรือเกินกว่า ๒ ไร่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพินัยกรรมข้อ ๑(๑) ฟังได้ว่านางนิลเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินอยู่แปลงเดียว ตามที่ได้แจ้ง ส.ค.๑ ไว้ เลขที่ ๖๔ ว่ามีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ วา และตามพินัยกรรมข้อ ๓. เจ้ามรดกมีความประสงค์จะแบ่งที่ดินแปลงนี้ด้านตะวันออกให้แก่นายจำลองโจทก์เพียง ๒ ไร่ ที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมดยกให้นางบุญช่วยจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้จัดการทำศพเจ้ามรดก ศาลฎีกาเห็นว่าตามพินัยกรรม ข้อ ๑(๑) นางนิลเจ้ามรดกเจตนาทำพินัยกรรมที่ดินทั้งแปลงที่ตนมีอยู่ให้แก่โจทก์จำเลย การที่ระบุไว้เพียง ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ วา ก็เห็นได้ว่าเป็นการระบุเนื้อที่ตาม ส.ค. ๑ ที่แจ้งไว้แต่เดิมซึ่งอาจเป็นการประมาณ ย่อมมากหรือน้อยจากความจริงก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ย่อมหมายถึงที่ดินหมดทั้งแปลงที่เจ้ามรดกมีอยู่ ไม่มีเหตุผลที่น่าคิดเลยว่าเจ้ามรดกตั้งใจทำพินัยกรรมเฉพาะ ๖ ไร่ ๒ งาน ๔ วา ที่เหลือให้เป็นมรดกไม่มีพินัยกรรม เมื่อแปลว่าที่ดินมรดกตามพินัยกรรมข้อที่ ๑(๑) หมายถึงที่ดินทั้งแปลงที่เจ้ามรดกมีอยู่ คือ ๑๘ ไร่เศษ
ตามแผนที่กลางและข้อเท็จจริงรับกันว่าจำเลยเป็นผู้จัดการทำศพนางนิลเจ้ามรดก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับที่ดินมรดกเพียง ๒ ไร่ด้านตะวันออก ที่ดินที่เหลือทั้งหมดจากที่แบ่งให้โจทก์จึงตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมข้อ ๓ โจทก์ต้องแพ้คดีตามคำท้า
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็น ให้แบ่งที่ดินมรดกของนางนิลเจ้ามรดกให้โจทก์ได้รับ ๒ ไร่ทางด้านทิศตะวันออก คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย.

Share