คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลให้เลื่อนการนัดสืบพยานโจทก์ไปหลังจากที่มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ก็ต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบเพื่อจะได้มาระวังประโยชน์ของตน เมื่อปรากฏว่าในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยนั้นเจ้าพนักงานเดินหมายรายงานว่า จำเลยไปทำกิจธุระในต่างจังหวัด แสดงว่าไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยได้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้ส่งหมายนัดโดยวิธีอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นปิดประกาศที่หน้าศาลแทนการส่งหมายนัดให้จำเลยทราบโดยวิธีธรรมดา จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบวันนัดของศาลแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ผู้ทรงเช็คฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์กับผู้มีชื่อคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 เวลา 13.30 นาฬิกาเมื่อถึงวันนัดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายโจทก์มาศาลส่วนจำเลยไม่มาศาล และมิได้ร้องขอเลื่อนคดี หรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และให้พิจารณาพิพากษาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ทนายโจทก์แถลงว่าติดใจสืบพยาน ให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26 พฤศจิกายน2529 เวลา 13.30 นาฬิกา และนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาล แต่เมื่อถึงวันนัดทนายโจทก์มาศาลแต่เพียงฝ่ายเดียวและแถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากตัวโจทก์ติดการเรียนที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 22 ธันวาคม 2529 เวลา 13.30 นาฬิกาแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยปิดประกาศที่หน้าศาลแทนการส่งหมายเมื่อถึงวันนัดโจทก์มาศาลฝ่ายเดียวและนำพยานเข้าสืบจนเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่าในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยป่วยไม่สามารถมาศาล มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบโดยประกาศหน้าศาลไม่ชอบ จำเลยมีทางชนะคดี เพราะคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำขอของจำเลยแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้มีการพิจารณาใหม่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้มีการพิจารณาใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าทนายจำเลยมาศาลตามกำหนดนัดไม่ได้เพราะมีเหตุสมควรนั้น จำเลยมีนางสาวนวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ทนายจำเลยมาเบิกความว่า นางสาวนวลนิจป่วยตั้งแต่วันที่ 5พฤศจิกายน 2529 โดยมีประจำเดือนตัวร้อนและมีไข้ ไม่สามารถมาศาลในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยได้ และป่วยติดต่อกันเป็นเวลา 20 วัน ไม่ได้ไปสำนักงานทนายความเลย นอกจากนี้นางสาวนวลนิจลืมกำหนดนัดคดีนี้ จนกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์2530 จำเลยนำคำบังคับในคดีนี้ไปให้นางสาวนวลนิจดู จึงทราบว่าศาลชั้นต้นได้ทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ศาลฎีกาเห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจำเลย ตัวจำเลยก็ไม่มาศาล ทั้งพยานอื่นก็ไม่ได้นำมา ทนายจำเลยอ้างว่า ทนายจำเลยป่วยตั้งแต่วันที่ 5พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นมา เป็นเวลาติดต่อกัน 20 วัน แต่ไม่มีหลักฐานอันใดรับรองว่าทนายจำเลยป่วยจริงมาแสดง นอกจากคำเบิกความของทนายจำเลยแต่ผู้เดียวลอย ๆ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า นางสาวนวลนิจทนายจำเลยป่วยจนไม่สามารถมาศาลหรือขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการไม่เอาใจใส่ในการดำเนินคดี จึงถือได้ว่าการขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเพียงแต่แจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 22 ธันวาคม 2529 ให้จำเลยทราบ โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่หน้าศาล ถือว่าเป็นการส่งหมายที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคแรก นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการไม่เอาใจใส่ในการดำเนินคดีและถือว่าการขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นก็ตาม การนัดสืบพยานโจทก์หลังจากวันที่จำเลยขาดนัดพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องออกหมายนัดไปให้จำเลยทราบ ทั้งนี้เพราะแม้จำเลยจะขาดนัดพิจารณาก็มิใช่ว่าศาลจะพิพากษาคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะตามคำฟ้อง โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างที่โจทก์ฟ้อง และแม้ว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยก็ยังมีสิทธิจะมาซักถามพยานโจทก์ดังนั้นจึงต้องส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบ เพื่อจำเลยจะได้มาระวังประโยชน์ของตน และแม้ตามสำนวนปรากฏว่าการส่งหมายเรียกกับสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ต้องส่งโดยวิธีปิดหมายก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีในการส่งหมายเรียกกับสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยว่า จำเลยไม่อยู่ ไปทำกิจธุระในต่างจังหวัด ซึ่งแสดงว่ามิใช่กรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยได้ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคแรกตอนต้น ฉะนั้นกรณียังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะนำวิธีการอย่างอื่นมาใช้แทนการส่งหมายเรียกโดยวิธีธรรมดาดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 79 วรรคแรกตอนท้ายได้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ปิดประกาศที่หน้าศาลแทนการส่งหมายนัดให้จำเลยทราบโดยวิธีธรรมดา จึงเป็นการมิชอบ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบวันนัดของศาลแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกคำร้อง ของ จำเลย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวใหม่ โดยส่งหมายนัดให้แก่จำเลยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 79 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่

Share