แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นของจำเลยที่ 2จึงตกอยู่ในอำนาจการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 19 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการยึดสิทธิตามใบอนุญาตนั้น กรณีถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 158 แต่การที่จำเลยที่ 2 คัดค้านว่าสิทธิตามใบอนุญาตตั้งสถานบริการไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดนั้น เป็นการโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ตามมาตรา 146 ซึ่งจะต้องยืนคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดสิบสี่วัน นับแต่วันที่ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการยึดสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เล่มที่ 1 เลขที่ 20/2518 ของนายประสิทธิ์ เลิศอมรวณิช จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดแล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ตามกฎหมายและมิใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย การยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า สิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของจำเลยที่ 2 ที่ผู้แทนโจทก์นำยึดไว้ เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้และสามารถโอนกิจการตามใบอนุญาตนั้นได้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ซึ่งต้องร้องขอต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบการกระทำ หรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่จำเลยที่ 2 ได้ทราบแล้วว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดสิทธิตามใบอนุญาตดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม2528 การที่มายื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม2531 จึงเกินกำหนดเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 2 ทราบถึงการยึดสิทธิดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 และยื่นคำร้องคัดค้านการยึดสิทธิดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2530 และยื่นคำขอโดยเป็นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่27 ตุลาคม 2531
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นสิทธิเฉพาะตัวโอนให้แก่กันไม่ได้ จึงไม่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ตามมาตรา 19วรรคแรกและ 109 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึด และการร้องคัดค้านของจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 158 นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 19บัญญัติว่า คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตราสมุดบัญชีและเอกสารของลูกหนี้และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 แล้วทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ทั้งปวงจึงตกอยู่ในอำนาจการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ทั้งปวงหรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน และสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นของจำเลยที่ 2 สิทธิดังกล่าวจึงตกอยู่ในอำนาจการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรณีถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 158 การที่จำเลยที่ 2 ถือว่าสิทธิตามใบอนุญาตตั้งสถานบริการไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดนั้น จึงเป็นการโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 146 หาใช่มาตรา 158 ไม่และตามมาตรา 146 บัญญัติให้ผู้ล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คือการยึดสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2531 จึงพ้นกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน