แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแล การปฏิบัติงานของพนักงานเงินพนักงานบัญชี ในการปิดบัญชีแต่ละวัน โจทก์มีหน้าที่ตรวจ นับเงินสดตรา ไปรษณียากร อากรแสตมป์ ตั๋วแลกเงินและวิมัยบัตร ให้ตรงกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีเงินสดแต่ในช่วงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ถึง วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ โจทก์ตรวจ เฉพาะ บัญชีเงินสด ไม่ได้ตรวจ ตราไปรษณียากรคงเหลือแต่ละวัน ทะเบียนคุมเงินตราไปรษณียากรสมุด แรกรับตราไปรษณียากรและวิมัยบัตร เป็นเหตุให้ ส.พนักงานเงินทุจริตไปรษณียากรกับเงินฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุ ไปรษณีย์รายเดือน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์จึงต้อง รับผิดต่อ จำเลยโดยตรงฐาน ผิดสัญญาจ้างแรงงานและฐาน กระทำ ละเมิดต่อ จำเลยโดย ร่วมรับผิดกับ ส. และ อ. พนักงานบัญชีอย่างลูกหนี้ร่วม
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากอายุเกิน ๖๐ปีบริบูรณ์ ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินโบนัสจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ละเลยไม่ ปฏิบัติตาม ระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานเงินของจำเลยทุจริต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงขอใช้ สิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย เมื่อหักแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีกจำนวนหนึ่งจำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าว ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่ง เกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อ จำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ทั้งจำเลยได้ บรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตาม ระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างไร จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไรเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสองแล้วส่วนข้อที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบข้อบังคับอย่างไรฉบับที่เท่าใด เป็นเรื่องที่จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลย และในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยด้วย หนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยเรียกจากโจทก์จึงยังมีข้อต่อสู้ ดังนั้นจำเลยจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยก็ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่าการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้ ส. พนักงานเงินทุจริต นำเงินของจำเลยไปใช้ เป็นประโยชน์ส่วนตัวจำนวน ๓๙๗,๐๙๐.๕๐ บาท และโจทก์ต้อง ร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลย แม้ในฟ้องแย้งของจำเลยจะมีคำขอให้โจทก์ใช้ เงินเพียง ๓๖,๑๓๐.๑๕ บาท ก็เพราะจำเลยเข้าใจว่าสามารถนำสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดดังกล่าวมาหักกับสิทธิเรียกร้องในเงินตามฟ้องของโจทก์ได้ จึงต้อง ถือว่าจำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งหมดเมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเป็นเงินรวม ๓๗๕,๒๕๗.๑๔ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๓๖๐,๙๖๐.๓๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในขณะเดียวกันโจทก์ต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน ๓๙๗,๐๙๐.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จดังนั้น เพื่อความสะดวกในการบังคับตาม คำพิพากษาจึงเห็นสมควรให้หักหนี้กันเสียโดย ให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปรากฏว่าเมื่อหักหนี้แล้วโจทก์ต้อง ชำระเงินให้จำเลยอีก ๒๑,๘๓๓.๓๖ บาทพร้อมดอกเบี้ย ดังกล่าวแต่ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ จึงให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตาม คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.