แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ ซึ่งตามระเบียบศูนย์การทหารราบว่าด้วยการดำเนินงานของโรงพิมพ์ศูนย์การทหารพ.ศ. 2528 ระบุไว้ในข้อ 18 ว่า ให้ผู้จัดการโรงพิมพ์ควบคุมและรับผิดชอบทรัพย์สินของโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ และเมื่อตามสำเนารายการจดทะเบียนของรถคันที่ลูกจ้างของจำเลยขับรถชนโดยละเมิดนั้นเป็นของโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองดูแลรับผิดชอบรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยขอให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 132,193 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 132,193 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 82,563 บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 82,563 บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน9 ย-1708 กรุงเทพมหานคร เป็นของกองทัพบกนั้น การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์เป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ ซึ่งตามสำเนาระเบียบศูนย์การทหารราบว่าด้วยการดำเนินงานของโรงพิมพ์ศูนย์การทหาร พ.ศ. 2528 เอกสารหมายจ.2 ระบุไว้ในข้อ 18 ว่า ให้ผู้จัดการโรงพิมพ์ควบคุมและรับผิดชอบทรัพย์สินของโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ และตามสำเนารายการของรถที่จดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน9 ย-1708 เป็นของโรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองดูแลรับผิดชอบรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อลูกจ้างของจำเลยกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน