คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 16,000 บาท โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 12,000 บาท โจทก์ก็ชอบที่จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 16,000 บาท เท่านั้น จะขอแก้ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์และโจทก์พอใจแล้วไม่ได้ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้แก้ โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท ไม่ได้ด้วย
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จากฝ่ายจำเลยซึ่งมากกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือได้ว่าโจทก์พอใจคำวินิจฉัยส่วนนี้ของรัฐมนตรีแล้ว ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องของโจทก์จึงหมดสิ้นไปแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้ของจำเลย
โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้น เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน แต่การยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 และ 152143ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 สายต่อเขตกรุงเทพมหานครควบคุม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3202 (เขตบึงกุ่ม) พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 145468 และ 152143 ถูกเวนคืนบางส่วน เนื้อที่ 277.2 ตารางวา และ 83.8 ตารางวา ตามลำดับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 15,000บาท เป็นเงิน 4,158,000 บาท และตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน 670,400 บาท ตามลำดับ โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงแล้วเห็นว่าไม่เป็นธรรม ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่รัฐมนตรีฯ ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 145468 อยู่ติดถนนคลองลำเจียกสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนนวลจันทร์และถนนอื่นอีกหลายสายอยู่ในย่านที่เจริญ เดิมที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมเมื่อถูกเวนคืนทำให้ถูกแบ่งเป็นสองแปลงไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่สามารถพัฒนาทำประโยชน์ได้เต็มที่ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 อยู่ติดคลองลำเจียกซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์ สามารถผ่านเข้าออกสู่ที่ดินและทางสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ได้ มิใช่เป็นที่ดินตาบอด ที่ดินแปลงนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่เมื่อถูกเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงไม่อาจทำประโยชน์ใดได้ ทำให้ได้รับความเสียหาย เมื่อคำนึงถึงสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์แล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ70,000 บาท จะต้องได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 55,000 บาท เป็นเงิน15,246,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 คือวันที่ 28 สิงหาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน 23 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 1,918,666.75 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่152143 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 40,000 บาท ซึ่งจะต้องได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีกตารางวาละ 32,000 บาท เป็นเงิน 2,656,000 บาท(ที่ถูก 2,681,600 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน 25 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 338,738.21 บาทการเวนคืนทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 ถูกแบ่งแยกเป็นสองแปลงเสื่อมราคาลงเพราะไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือได้เต็มที่ขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 2,000,000บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ที่เหลือจากการเวนคืนเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงมีเนื้อที่เพียง 9.2 ตารางวา ไม่อาจทำประโยชน์ใด ๆ ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนในอัตราตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน 368,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 เพิ่มขึ้น 15,246,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 1,918,666.75 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 152143เพิ่มขึ้นอีก 2,656,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 338,738.21 บาท ให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจำนวน 9.2 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน 368,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสื่อมราคาของที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 เป็นเงิน 2,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 20,270,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 และ 152143 มีราคาตารางวาละ 70,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับนั้นเป็นราคาที่กำหนดขึ้นเองตามความพอใจมิได้มีการซื้อขายกันจริง ที่โจทก์ขอค่าเสื่อมราคา 2,000,000 บาทนั้น ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 145468 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน 222.8 ตารางวา จะอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 มี 8 ช่องเดินรถ มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ไม่เสื่อมราคาแต่อย่างใด ไม่อาจเรียกร้องค่าเสื่อมราคาได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ซึ่งเหลือเนื้อที่ 9.2 ตารางวา นั้น โจทก์ไม่เคยแสดงความจำนงขายให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น จึงไม่อาจจ่ายเงินทดแทนส่วนนี้ได้ หากต้องจ่ายราคาก็ไม่ถึงตารางวาละ 40,000บาท เพราะราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯมีราคาตารางวาละ 8,000 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี หากจำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มและต้องเสียดอกเบี้ย โจทก์ก็จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,133,600 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้ ดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมากับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน7,375,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดขึ้นลงของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ส่วนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 152143 นั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขทุนทรัพย์ชั้นฎีกาโดยอ้างว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนด เลขที่ 152143 เพิ่มขึ้นจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 24,000 บาทจึงมีปัญหาว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขทุนทรัพย์ชั้นฎีกาได้หรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 จากตารางวาละ8,000 บาท เป็นตารางวาละ 16,000 บาท โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 จากตารางวาละ8,000 บาท เป็นตารางวาละ 12,000 บาท โจทก์ก็ชอบที่จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 จากตารางวาละ 12,000 บาท เป็นตารางวาละ16,000 บาท เท่านั้น จะขอแก้ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่152143 เป็นตารางวาละ 24,000 บาท ซึ่งเกินกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์และโจทก์พอใจแล้วนั้นไม่ได้ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้แก้ให้ยกคำร้องขอดังนี้โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 24,000 บาทไม่ได้ด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่152143 จากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 24,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จากฝ่ายจำเลยซึ่งมากกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์ และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือได้ว่าโจทก์พอใจคำวินิจฉัยส่วนนี้ของรัฐมนตรีฯ แล้ว ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ตามฟ้องของโจทก์จึงหมดสิ้นไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองด้วย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ในราคาเท่าใด โจทก์เบิกความว่า โจทก์เคยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่จำเลยในตอนที่ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งให้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปก่อน โจทก์จึงไม่ทราบว่าจำเลยจะซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ความชัดเจนพอที่จะให้รับฟังได้ว่า โจทก์ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินหรือจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 152143ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น อนึ่ง การยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเห็นสมควรไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่145468 เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีก 1,386,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 8.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และในส่วนที่ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 เพิ่มขึ้นนั้นให้ยกฟ้องโจทก์ ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและยกฎีกาโจทก์และยกฎีกาจำเลยทั้งสองในส่วนดังกล่าวเสียด้วยและยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 152143 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องในส่วนนี้มายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share