คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยค้างชำระค่าจ้างขนส่งแก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่นำรถออกวิ่งต้องถูกปรับ จำเลยขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามฟ้องโจทก์ จำเลยจะต้องฟ้องแย้งเข้ามา เมื่อจำเลยมิได้ฟ้องแย้ง ศาลไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมกิจการเดินรถยนต์โดยสารประจำทางอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมการขนส่งทางบกคือจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ประกอบการขนส่งรถยนต์โดยสารประจำทางด้วยผู้หนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้จ้างรถยนต์โดยสารประจำทางจากผู้ประกอบการขนส่งเพื่อรับส่งนักเรียน นิสิตและนักศึกษาหลายรายรวมทั้งโจทก์ด้วย โดยตกลงค่าจ้างกันวันละ 780 บาทต่อคัน จำเลยที่ 1 ตกลงจ้างรถจากโจทก์ 7 คัน มีกำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2518 ได้ทำสัญญาจ้างขนส่งกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.6 แต่เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาแล้วก็ได้ต่ออายุสัญญาเรื่อย ๆ อีกคราวละ 1 เดือน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับสัมปทานเดินรถยนต์โดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงจ้างรถจากจำเลยที่ 2 จำนวนไม่น้อยกว่า 345 คันวิ่งแทนผู้ประกอบการขนส่งอื่น ๆ รวมทั้งโจทก์เริ่มแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2519 ตามเอกสารหมาย ล.7 และได้มีการตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และผู้ที่เคยรับจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งนักเรียน นิสิตและนักศึกษาว่า ให้ผู้ประกอบการขนส่งเหล่านั้นรวมทั้งโจทก์เข้าเป็นคู่สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสารกับจำเลยที่ 2 แทนจำเลยที่ 1 โดยถือปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาที่เคยทำกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.6 ทุกประการ จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์ 3 งวด คือเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 เป็นเงิน 47,046 บาท 73 สตางค์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2519 เป็นเงิน 60,252 บาท 87 สตางค์ และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2519 เป็นเงิน 60,390 บาท 43 สตางค์ ตามต้นขั้วใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2519 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบการขนส่งเดิมระงับการเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2519 เป็นต้นไปตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2519 จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ว่า จะเริ่มรับพนักงานลูกจ้างรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนแล้วเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าจ้างโจทก์รวม 3 งวด งวดละ 62,440 บาท รวมเป็นเงิน 187,320 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมชำระ อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไมนำรถออกวิ่งตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2519 ซึ่งต้องถูกจำเลยที่ 2 ปรับเป็นเงิน 291,040 บาท เมื่อหักกลบลบกันแล้วโจทก์ยังเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 อยู่

ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2519 รวม 3 งวด งวดละ 62,440 บาท รวมเป็นเงิน 187,320 บาทหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเงิน 187,320 บาท อยู่ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม 2519 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่นำรถออกวิ่งถึงวันที่ 30 กันยายน 2519 ซึ่งจะต้องถูกจำเลยที่ 2 ปรับเป็นเงิน 291,040 บาท แม้โจทก์จะผิดสัญญาและถูกปรับจริงดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฟ้องแย้งเข้ามา จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้นำเงินจำนวน 291,040 บาท ที่อ้างว่าโจทก์จะต้องถูกจำเลยที่ 2 ปรับมาหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ผิดสัญญาดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระค่าจ้างที่ค้างจำนวน 187,320 บาทให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share