คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลเสมือน ไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้อง คำร้องของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้คัดค้านซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแต่คำของผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านไม่รับรองว่าได้จดทะเบียนผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนยังโต้เถียงกันเช่นนี้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดานจึงยังคลาดเคลื่อนอยู่
เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586วรรคต้น และย่อมเป็นผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิร้องขอ ต่อศาลขอให้สั่งให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้องได้ตามมาตรา 34 ประกอบด้วยมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของหม่อมเจ้าหญิงถวิลวิการกมลาสน์ จดทะเบียนตามกฎหมาย ขณะนี้หม่อมเจ้าหญิงถวิลฯมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่สามารถจัดทำกิจการและจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ ขอให้สั่งแสดงว่าหม่อมเจ้าหญิงถวิลฯ เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้อง

หม่อมเจ้าหญิงถวิลฯ คัดค้านว่า ไม่รับรองว่าจดทะเบียนผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แม้จะได้จดทะเบียน ผู้ร้องก็ไม่ใช่ผู้สืบสันดานผู้คัดค้านมิได้มีจิตฟั่นเฟือน

ถึงวันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานเห็นว่าผู้ร้องเป็นเพียงบุตรบุญธรรม ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน พิพากษาให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้สืบสันดาน พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไป

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของหม่อมเจ้าหญิงถวิลฯ ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแต่คำคัดค้านของผู้คัดค้านว่าหม่อมเจ้าหญิงถวิลฯ ไม่รับรองว่าได้จดทะเบียนรับรองผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายศาลฎีกาเห็นว่า การรับบุตรบุญธรรมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า “ฯลฯ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายกฎหมายจึงถือได้ว่าเป็นผู้สืบสันดาน ฯลฯ” นั้น จึงคลาดเคลื่อนอยู่เพราะเมื่อยังฟังไม่ได้ว่าได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย โดยยังโต้เถียงข้อเท็จจริงกันอยู่ ก็ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586 ไม่ได้

ถ้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้คัดค้านที่โต้เถียงกันอยู่ดังกล่าวในประเด็นข้อแรกฟังได้ว่า ได้มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายแล้วผู้ร้องย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม (คือผู้คัดค้าน) ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586 วรรคต้น เมื่อผู้ร้องมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านก็ย่อมเป็นผู้สืบสันดานของผู้คัดค้าน และมีสิทธิร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้ผู้รับบุตรบุญธรรม (คือผู้คัดค้าน)เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถตามกฎหมาย และให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้องได้ตามมาตรา 34 ประกอบด้วยมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว

พิพากษายืน

Share