แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมที่ไม่มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคณะกรรมการธุรกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติไว้ เพื่อแก้ข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานราชการ คือ กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเข้าไปเป็นผู้รักษาราชการแทน โดยผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนตามมาตรา 48 การรักษาราชการแทนเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่ต้องมีการแต่งตั้ง และเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมาปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วการรักษาราชการแทนก็จะสิ้นสุดลง เมื่อพันตำรวจเอก ย. ซึ่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในขณะนั้นรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงเป็นคณะกรรมการธุรกรรมได้ การประชุมและมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณารวมกันโดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกผู้คัดค้านที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอเป็นใจความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการโดยใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการปลอมบัตรประจำตัวประชาชน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 265, 266 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 19 (3), 26 และ 89 โดยมีพลเรือนเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าการขอกำหนดสถานะบุคคลและลงรายการสัญชาติไทยของบุคคลบนพื้นที่สูงของสำนักทะเบียนอำเภอแม่แตง จำนวน 5,013 คน ระหว่างเดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2548 มีการพิสูจน์สอบสวนที่ขัดต่อระเบียบของสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 และมีการทุจริตการออกบัตรประจำตัวประชาชนไปแล้วประมาณ 1,900 ราย พนักงานสอบสวนจึงได้รวมคดีดังกล่าวเข้าด้วยกันในคดีอาญาที่ 382/2548 พร้อมส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มีทรัพย์สินในชื่อผู้คัดค้านทั้งสองรวม 5 รายการ มีมูลค่าประมาณ 6,000,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตามบัญชีทรัพย์พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ที่ดินพร้อมตึกแถวตามโฉนดเลขที่ 101525 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 12 ตารางวา มูลค่าประมาณ 900,000 บาท ที่ดินพร้อมตึกแถวโฉนดเลขที่ 101526 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 12 ตารางวา มูลค่าประมาณ 900,000 บาท ที่ดินพร้อมตึกแถวตามโฉนดเลขที่ 101527 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 11 ตารางวา ของผู้คัดค้านที่ 2 มูลค่าประมาณ 800,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ สีน้ำตาล ของผู้คัดค้านที่ 2 มูลค่าประมาณ 400,000 บาท ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 94533 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบ้าน ราคาประเมิน 2,950,000 บาท ของผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่แตงจับกุมนายสะล่า นายจำรัส และนายไพศาล ในข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอบัตรประจำตัวประชาชน ต่อมามีหลักฐานพาดพิงถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานสอบสวนจึงได้รับคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางพิทยาพร เจ้าหน้าที่ปกครอง 4 อำเภอแม่แตง ในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนทำการปลอมบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เมื่อสุ่มฐานข้อมูลในการออกบัตรประจำตัวประชาชนของสำนักทะเบียนอำเภอแม่แตง พบว่ามีการเพิ่มชื่อบุคคลจำนวนมากเข้าในทะเบียนบ้านและมีการออกบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งอนุมัติโดยผู้คัดค้านที่ 1 ตำแหน่งนายอำเภอแม่แตง อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อมูลประชากรในท้องถิ่นที่เป็นฐานข้อมูลของฝ่ายสาธารณสุข พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกบัตรประจำตัวประชาชน คือ นางพิทยาพร เจ้าหน้าที่ปกครอง 4 นายอุทิศ นายอุทัย ปลัดอำเภอแม่แตง และผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมกันปลอมเอกสารราชการโดยใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการปลอมบัตรประจำตัวประชาชน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ปลอมเอกสารราชการโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 265, 266 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 19 (3), 26 และ 89 โดยมีพลเรือนเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนจึงได้รวมคดีดังกล่าวเข้าด้วยกัน พร้อมส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) จึงขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 มีมติมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฝ่ายปฏิบัติการ) ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและคดี และพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2549 และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 2/2549 ลงวันที่ 18 มกราคม 2549 (ชั้นไต่สวน ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.96/2549) ตรวจสอบแล้วกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 17/2549 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 มีมติให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก คือ 1. ที่ดินพร้อมตึกแถวตามโฉนดเลขที่ 101525 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ของผู้คัดค้านที่ 2 ภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 มูลค่าประมาณ 900,000 บาท 2. ที่ดินพร้อมตึกแถวตามโฉนดเลขที่ 101526 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ของผู้คัดค้านที่ 2 มูลค่าประมาณ 900,000 บาท 3. ที่ดินพร้อมตึกแถว อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 11 ตารางวา ของผู้คัดค้านที่ 2 มูลค่าประมาณ 800,000 บาท 4. รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ สีน้ำตาล มูลค่าประมาณ 400,000 บาท ไว้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมและคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 104/2549 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 (ชั้นไต่สวน ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.96/2549) ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินเพิ่มเติม 1 รายการ คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 94533 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบ้าน มูลค่าประมาณ 2,950,000 บาท กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 20/2549 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 มีมติให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมและคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 121/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 (ชั้นไต่สวน ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.4/2550) และแจ้งคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองทราบ ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวม 5 รายการ มูลค่าประมาณ 6,000,000 บาท พร้อมดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า การประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 17/2549 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง และมีคำสั่งที่ ย. 104/2549 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน กับการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 20/2549 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง และมีคำสั่งที่ ย.121/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน และต่อมามีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองตกเป็นของแผ่นดินนั้นไม่ชอบ เนื่องจากการประชุมดังกล่าวมีเพียงพันตำรวจเอก ยุทธบูล รองเลขาธิการ รักษาการแทน (ที่ถูก รักษาราชการแทน) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานในการประชุม การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง นั้น เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่อาจเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมโดยไม่ได้อ้างว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่อาจเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการได้ จึงเป็นการฎีกาโต้แย้งว่า รองเลขาธิการดังกล่าวไม่อาจเป็นคณะกรรมการธุรกรรมนั่นเอง ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ใดได้เป็นกรณีที่กระทบถึงสิทธิและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งจะต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจ ปัญหาที่ว่าการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมที่ไม่มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นคณะกรรมการธุรกรรมจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หาใช่เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนการที่พันตำรวจเอก ยุทธบูล รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นคณะกรรมการธุรกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ” ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน …” วรรคสอง บัญญัติว่า ” ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อธิบดีจะแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี หรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงหรืออธิบดี ในส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมด้วยโดยอนุโลม” เห็นได้ชัดว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้มีไว้เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานราชการ คือ กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเข้าไปเป็นผู้รักษาราชการแทน โดยผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 การรักษาราชการแทนเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่ต้องมีการแต่งตั้ง และเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมาปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วการรักษาราชการแทนก็จะสิ้นสุดลง เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 17/2549 ว่า พันตำรวจเอก ยุทธบูล ซึ่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในขณะนั้นรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงเป็นคณะกรรมการธุรกรรมได้ ซึ่งการประชุมนั้นมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.104/2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน ส่วนการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 20/2549 และมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.121/2549 ให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน นั้น พันตำรวจเอก ยุทธบูล ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังนั้นการประชุมดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองตกเป็นของแผ่นดินได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ