คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3706/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทไม่เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษาตามยอมที่ถึงที่สุดซึ่งบังคับให้จำเลยที่ 2จำต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 โดยนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนางช้อย สนกนก และเป็นผู้รับมรดกของนางช้อยแต่ผู้เดียว เดิมโจทก์กับพวก 4 คน ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2และนางช้อย สนกนก ในที่ดินโฉนดเลขที่ 855 เนื้อที่ 73 ไร่ 3 งาน12 ตารางวา ต่อมาในปี 2495 โจทก์กับพวก 4 คน ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2และนางช้อย สนกนก เพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินฝ่ายละครึ่งต่อมามีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้แบ่งกันดังนี้ ที่ดินส่วนที่เป็นถนนผ่านกลางยกให้เป็นทางสาธารณะ ที่ดินด้านทิศเหนือของถนนให้แบ่งครึ่งทั้งหมด ส่วนทางด้านทิศใต้ของถนนให้แบ่งครึ่งโดยปักหลังกึ่งกลางแนวที่ดินที่ติดถนน แล้วลากเส้นตรงลงไปทางด้านใต้ให้ได้กึ่งกลางของที่ดินด้านทิศใต้ ให้ฝั่งตะวันออกเป็นของจำเลยที่ 2 และนางช้อย สนกนก ฝั่งตะวันตกเป็นของโจทก์กับพวกต่อมาจำเลยที่ 2 และนางช้อย สนกนก ได้นำคำพิพากษาไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 855 แต่ดำเนินการแบ่งแยกไม่ตรงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยร่วมมือหรือประมาทเลินเล่อทำให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกไม่ถูกต้อง โดยได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินทางด้านทิศเหนือของถนน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 5855 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 2และนางช้อยทั้งหมดที่ดินด้านทิศใต้ของถนนฝั่งตะวันออกโฉนดเลขที่ 5856 เนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 2และนางช้อยทั้งหมด ส่วนที่ดินด้านทิศตะวันตกเป็นของโจทก์กับพวกได้แก่โฉนดเลขที่ดิน 855 เนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวาการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานางช้อย สนกนก ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5855 ให้จำเลยที่ 2โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 โจทก์ตรวจสอบที่ดินโฉนดเลขที่ 855 จึงทราบว่าจำเลยดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการใหม่ให้เป็นไปตามข้อตกลง แต่จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองยกเลิกการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 855ซึ่งแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 5855, 5856 เสีย แล้วให้แบ่งแยกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง ความจริงสัญญาระบุว่า ที่ดินตอนเหนือถนนสาธารณประโยชน์โฉนดเลขที่ 855 โจทก์ยอมให้เป็นของจำเลยทั้งหมด ฯลฯ ที่ดินทางด้านใต้ของถนนที่ตัดผ่าน โจทก์จำเลยตกลงกันวัดแบ่งครึ่งจากมุมเขตด้านตะวันออกไปตามแนวเขตถนนถึงมุมเขตด้านตะวันตก แล้วปักหลังกึ่งกลางไว้ ฯลฯ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินถูกต้องตรงกับสัญญาที่ศาลชั้นต้นส่งไปให้จำเลยที่ 1ทุกประการ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องของโจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมีคำพิพากษาตามยอมเกิน 10 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เดิมโจทก์กับจำเลยที่ 2 เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 855ตอนเหนือถนนสาธารณประโยชน์เป็นของจำเลยที่ 2 ทั้งหมด สัญญาดังกล่าวตรงตามสารบบคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2495โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 5855 ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกมาจากโฉนดเดิม การแบ่งแยกให้กระทำโดยการลากเส้นตรงตามแนวเขตด้านเหนือสุดจากทางตะวันออกไปทางตะวันตก แล้วจุดกึ่งกลางไว้และลากเส้นตรงตามแนวเขตด้านที่ติดถนนสาธารณะจากตะวันออกไปตะวันตกแล้วจุดกึ่งกลางไว้ จากจุดกึ่งกลางทั้งสองให้ลากเส้นตรงโยงเข้าหากันเป็นเส้นแบ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์กับพวกทั้งสี่ได้ที่ดินด้านทิศตะวันตก ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ที่ดินด้านทิศตะวันออกหากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 855 ตั้งอยู่ตำบลทองหลางอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 73 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวามีนายคล้าย น้อยประสิทธิ์ บิดาโจทก์กับนายนิ่มบิดาจำเลยที่ 2ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ดินส่วนบิดาโจทก์ตกทอดเป็นมรดกแก่โจทก์นางอิน นางชื่น และนางเคลิ้ม และส่วนของบิดาจำเลยที่ 2 ตกทอดเป็นมรดกแก่จำเลยที่ 2 และนางช้อยมารดาจำเลยที่ 2 แล้วนางช้อยยกส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับพวกทั้งสี่ ซึ่งเป็นเจ้าของรวมฟ้องจำเลยที่ 2 ให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินฝ่ายละครึ่ง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2495 ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่1555/2494 หมายเลขแดงที่ 193/2495 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2นำคำพิพากษาตามยอม และสัญญาประนีประนอมยอมความไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ และออกโฉนดรวม 3 โฉนด โดยที่ดินด้านทิศเหนือของถนนสาธารณะได้แก่โฉนดเลขที่ 5855 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวส่วนที่ดินทางด้านใต้ของถนนสาธารณะแบ่งเป็นที่ดิน 2 แปลง แปลงด้านตะวันออกได้แก่โฉนดเลขที่ 5856 เนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และแปลงด้านตะวันตกได้แก่โฉนดเลขที่ 855 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับพวกทั้งสี่ ดังสำเนาโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลงเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.6…
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาจำเลยที่ 2 คือคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทโดยไม่เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 2 อ้างส่งตรงกันว่า มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเกี่ยวกับที่พิพาทเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2495 ปรากฏตามวันที่ซึ่งลงไว้ในเอกสารหมาย จ.2, จ.3, ล.1 และ ล.5 และตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินของที่พิพาทเอกสารหมาย ล.6 ที่จำเลยที่ 2 อ้างส่งโดยโจทก์มิได้โต้แย้ง ปรากฎว่ามีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2497 เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยพิพากษาชั้นที่สุดของศาลก็ดี โดยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการก็ดี โดยประนีประนอมยอมความก็ดี ท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี แม้ทั้งที่เป็นประเภทอันอยู่ในบังคับอายุความกำหนดน้อยกว่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษาตามยอมที่ถึงที่สุดซึ่งบังคับให้จำเลยที่ 2 จำต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีอายุความสิบปี โดยนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปคือวันที่19 กุมภาพันธ์ 2495 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่10 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า 10 ปี นับแต่วันที่19 กุมภาพันธ์ 2495 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2ข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share