แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องแย้งให้แบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์แบ่งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินด้วยเป็นการนอกเหนือคำฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทด้วยเงินของโจทก์ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย หลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วได้มีการจดทะเบียนลงชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสต้องแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยคนละส่วน ดังนั้นจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหนึ่งในสี่ส่วน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าต่อเจ้าพนักงาน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยไปเกินกว่าหนึ่งปี และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากับจำเลยอย่างร้ายแรง ระหว่างอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยานั้นโจทก์จำเลยมีทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกันคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4660 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยา ให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่าต่อเจ้าพนักงาน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์หรือให้โจทก์ชำระราคาที่ดินให้จำเลยเป็นเงิน200,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามคำให้การและฟ้องแย้งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันว่า โจทก์จำเลยประสงค์หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงขอสละสิทธิ์ไม่นำสืบในประเด็นพิพาทเรื่องเหตุหย่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4660 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ขายแล้วเอาเงินที่ได้แบ่งกันคนละครึ่งคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งที่พิพาทโฉนดเลขที่ 4660 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยหนึ่งในสี่ส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์แบ่งสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยด้วย เป็นการนอกเหนือคำฟ้องแย้ง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ดังนั้น ปัญหาที่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาคงมีเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 4660 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทกันเท่านั้น
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ซื้อมาด้วยเงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน เห็นว่า พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากนายคำเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2528 ในราคา 420,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายคำเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ว่าพยานได้ขายทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ และพยานยังได้เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ก่อนจดทะเบียนโอนทรัพย์กันโจทก์ได้วางเงินมัดจำแก่พยานไว้จำนวน 10,000 บาท ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้วางเงินมัดจำแก่นายคำ และจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยวางเงินมัดจำเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2528 หลังจากวางเงินมัดจำประมาณ 7 วันโจทก์นำเงินไปชำระให้แก่นายคำเห็นได้ว่า คำเบิกความของจำเลยในเรื่องผู้นำเงินมัดจำมอบแก่นายคำขัดกับคำเบิกความของนายคำพยานคนกลางซึ่งยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำเงินมัดจำไปวางนอกจากนี้ข้อเท็จจริงในเรื่องวันที่วางเงินมัดจำก็หาใช่วันที่ 27 มีนาคม 2528ดังคำเบิกความของจำเลย เพราะวันดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนายคำมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยนำเงินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อที่ดินพิพาทดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาจริงก็น่าจะได้มีการจดทะเบียนลงชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ตั้งแต่แรกเมื่อจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์จากนายคำแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายคำด้วยเงินของโจทก์เอง ฎีกาข้อแรกของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ว่า เมื่อโจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ในที่ดินพิพาทเป็นพฤติการณ์ที่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวร่วมกับโจทก์ครึ่งหนึ่งเห็นว่า ความเข้าใจของจำเลยกล่าวถูกต้องแล้ว แต่การที่โจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) เดิม ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสดังกล่าวต้องแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยคนละส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 เดิม ดังนั้น จำเลยคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพียงหนึ่งในสี่ส่วนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่าควรมีสิทธิในทรัพย์พิพาทครึ่งหนึ่งนั้นฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4660ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ให้จำเลยหนึ่งในสี่ส่วนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2