แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแดงที่ 3699-3739/2541
เมื่อจำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 27 และไม่เป็นไปตามมาตรา 5ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัย และศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวที่จำเลยอุทธรณ์ได้
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 208เพราะการกระทำของจำเลยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 มาตรา 38 ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาและก่อนจำเลยจะมีพรรษาครบ 10 พรรษา จำเลยได้ทำหน้าที่ดังเช่นอุปัชฌาย์โดยจำเลยบวชให้แก่ผู้อื่น ทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นพระผู้ใหญ่ในการบวช รวมทั้งเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขาร โดยจำเลยไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคมซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุที่บัญญัติว่าการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองสงฆ์ ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 7 (พ.ศ.2506) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 และมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 4 บัญญัติว่า พระอุปัชฌาย์หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการให้บรรพชาอุปสมบทตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคม และข้อ 12 บัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้เฉพาะตนและเฉพาะภายในเขตตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าว การบวชของผู้ที่จำเลยบวชให้ จึงเป็นการบวชที่ไม่ชอบ และผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ผู้ที่จำเลยบวชให้จึงต้องมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 208 ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้บวชและทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่เป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยอื่น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 208 ประกอบด้วยมาตรา 86
พระธรรมวินัยมีถ้อยคำและความหมายอย่างไร เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
กฎมหาเถรสมาคมซึ่งออกมาเพื่อประดิษฐานพระธรรมวินัยให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและจำนวนพุทธศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้นและมิได้ขัดต่อพระธรรมวินัย เมื่อกฏมหาเถรสมาคมดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23จึงใช้บังคับได้ บุคคลทุกคนจำเป็นต้องอนุวัตปฏิบัติตาม จะโต้เถียงว่าขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัยและไม่ยอมปฏิบัติตามไม่ได้
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 38จะบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา มีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติ แต่ก็ได้บัญญัติแสดงความมุ่งหมายไว้ด้วยว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องกันมิให้บุคคลผู้มีเจตนาไม่สุจริตอาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนาหาประโยชน์ใส่ตน อันเป็นต้นเหตุให้เสื่อมศรัทธาแก่ผู้ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว และไม่ก่อเกิดศรัทธาแก่ผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อนบุคคลทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ต้องตามเจตนารมณ์
จำเลยบวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกายเมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน 2513 และในปี 2516 ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกายซึ่งแสดงว่า จำเลยได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 18 บัญญัติให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้การที่จำเลยขอลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม และแยกตัวมาตั้งพุทธสถานสันติอโศก แล้วดำเนินการบวชบุคคลอื่นเป็นพระภิกษุ โดยวางกฎระเบียบต่าง ๆ และพยายามปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย แม้จะเป็นเวลานานเท่าใด การประกาศของจำเลยก็ไม่ทำให้จำเลยกับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่นรวม ๗๙ สำนวน เพื่อความสะดวกศาลชั้นต้นให้เรียกจำเลยในลำดับแรกของแต่ละสำนวน ตั้งแต่คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๔/๒๕๓๓ ถึง ๑๓๒/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ ตามลำดับ และเรียกนายรักษ์หรือรัก รักพงษ์หรือรักษ์พงษ์หรือสมณโพธิรักษ์ ว่าจำเลยที่ ๘๐ แต่คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๔ – ๕๖, ๕๙ – ๖๒, ๖๔, ๖๖ – ๗๑, ๗๓,๗๗ – ๘๐, ๘๒, ๘๔, ๙๘, ๑๐๐ – ๑๐๕, ๑๐๗, ๑๐๘, ๑๑๗ – ๑๑๙, ๑๒๑,๑๒๓ – ๑๒๗, ๑๓๐, ๑๓๒/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น
โจทก์ฟ้องทั้งเจ็ดสิบเก้าสำนวนรวมใจความว่า ระหว่างวันที่ ๗สิงหาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งแปดสิบได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ไม่ใช่สามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธได้บังอาจแต่งกายใช้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหมายแสดงว่าเป็นสามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธ อาทิ การใช้บาตรออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธ และจำเลยที่ ๘๐ ได้ช่วยเหลือให้ความสะดวกโดยเป็นผู้ทำพิธีบวชให้แก่จำเลยที่ ๑๗ ถึง ๓๑, ๔๒ ถึง๔๔, ๕๔ ถึง ๕๖, ๕๙, ๖๑, ๖๒, ๖๘ ถึง ๗๑, ๗๕ ถึง ๗๙ และเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายกับอัฐบริขาร เช่น สบง จีวร สังฆาฎิ และบาตรเพื่อให้จำเลยดังกล่าวสวมใส่และใช้บาตรออกบิณฑบาตโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุหรือสามเณรในศาสนาพุทธ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๐๘ และจำเลยที่ ๘๐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘, ๘๖, ๙๑ ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยที่ ๘๐ ติดต่อกันรวม ๓๓ สำนวน และโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๘๖๐/๒๕๓๒ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทุกสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ให้จำคุกคนละ ๓ เดือน จำเลยที่ ๘๐ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำเลยที่ ๘๐ ทำการบวชและสมาทานศีลให้จำเลยอื่นรวม ๓๓ คน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๒ เดือน รวม ๓๓ กระทง จำคุก ๖๖ เดือนจำเลยทั้งแปดสิบไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ ๒ ปี กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยทั้งแปดสิบ โดยให้ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีกและให้พนักงานคุมประพฤติสอดส่องให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ริบของกลางคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓๒ ถึง ๔๔, ๕๗ ถึง ๖๓ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๘๐ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๔๒ ถึง ๔๔, ๕๙, ๖๑, ๖๒ คงจำคุกจำเลยที่ ๘๐ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑๗ ถึง ๓๑, ๕๔ ถึง ๕๖, ๖๘ ถึง ๗๑, ๗๕ ถึง ๗๙ กระทงละ ๒ เดือนรวม ๒๗ กระทง รวมจำคุก ๕๔ เดือน จำเลยที่ ๘๐ ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ และให้ยกคำขอริบของกลางของจำเลยที่ ๓๒ ถึง ๔๔ และ ๕๗ ถึง ๖๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่ ๖ ถึงที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๘ ที่ ๒๐ที่ ๒๔ ถึงที่ ๒๗ ที่ ๒๙ ที่ ๓๑ ที่ ๔๕ ที่ ๔๗ ถึงที่ ๕๒ ที่ ๕๔ ที่ ๕๕ ที่ ๖๔ ถึงที่ ๖๖ที่ ๖๘ ที่ ๗๐ ถึงที่ ๗๔ ที่ ๗๗ ที่ ๗๙ และจำเลยที่ ๘๐ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๔๐ ได้ประกาศใช้แล้ว และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเหล่านี้ก่อน เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔มาตรา ๒๗ และไม่เป็นไปตามมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับดังกล่าว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ ศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ ที่ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘วรรคแรก ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจากหลักฐานหนังสือสุทธิเอกสารหมาย จ.๔๕ แสดงว่าก่อนจำเลยที่ ๘๐ จะมีพรรษาครบ ๑๐ พรรษา จำเลยที่ ๘๐ ได้ทำหน้าที่ดังเช่นอุปัชฌาย์บวชให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ที่ ๔๕ ถึงที่ ๔๙ ที่ ๖๔ ที่ ๖๕ ที่ ๗๒ และที่ ๗๓ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๘๐ ได้บวชให้แก่จำเลยอื่นอีกโดยทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นพระผู้ใหญ่ในการบวช รวมทั้งเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยที่บวช โดยจำเลยที่ ๘๐ ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคม จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๑ ที่ ๔๕ ถึงที่ ๕๖ ที่ ๖๔ ถึงที่ ๗๙ได้แต่งกายอย่างคณะสงฆ์ไทย ใช้บาตรออกบิณฑบาตจากบุคคลทั่วไป และอ้างว่าเป็นภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนา ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองสงฆ์ ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๖)เอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๓แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ข้อ ๔ บัญญัติว่า “ในกฎมหาเถรสมาคมนี้”พระอุปัชฌาย์” หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการให้บรรพชาอุปสมบทตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้” ข้อ ๑๒บัญญัติว่า “พระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้เฉพาะตนและเฉพาะภายในเขตตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้” เมื่อจำเลยที่ ๘๐ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าว การบวชของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่ ๖ ถึงที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๘ ที่ ๒๐ ที่ ๒๔ ถึงที่๒๗ ที่ ๒๙ ที่ ๓๑ ที่ ๔๕ ที่ ๔๗ ถึงที่ ๕๒ ที่ ๕๔ ที่ ๕๕ ที่ ๖๔ ถึงที่ ๖๖ ที่ ๖๘ที่ ๗๐ ถึงที่ ๗๔ ที่ ๗๗ ที่ ๗๙ จึงเป็นการบวชที่ไม่ชอบตามกฎมหาเถรสมาคมและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ จำเลยดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนา ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ ๘๐เป็นผู้บวชให้จำเลยดังกล่าวและทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยอื่น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยอื่นในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ จึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นเดียวกัน
ที่จำเลยฎีกาว่ากฎมหาเถรสมาคมออกมาเสริมเพิ่มเติมพระธรรมวินัยและนำมาใช้เหนือกว่าพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติว่า การบวชต้องพร้อมด้วยสมบัติ ๔ เท่านั้น ซี่งสมบัติ ๔ดังกล่าวนั้น พระอุปัชฌาย์ไม่จำต้องเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมกำหนดเหนือไปกว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติ เป็นการผิดไปจากพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และการบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม เท่ากับละเมิดเสรีภาพการนับถือศาสนาของจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ เห็นว่า พระธรรมวินัยมีถ้อยคำและความหมายอย่างไร เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อต้องห้ามฎีกาปัญหานี้เสียแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่ากฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวออกมาเพื่อประดิษฐานพระธรรมวินัยให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและจำนวนพุทธศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้น มิได้ขัดต่อพระธรรมวินัย และเมื่อกฏมหาเถรสมาคมดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ จึงใช้บังคับได้ จำเลยทุกคนจำเป็นต้องอนุวัตปฏิบัติตามจะโต้เถียงว่าขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัยจึงไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ นั้น จะบัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา มีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติแต่ก็ได้บัญญัติแสดงความมุ่งหมายไว้ด้วยว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ บัญญัติขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องกันมิให้บุคคลผู้มีเจตนาไม่สุจริตอาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนาหาประโยชน์ใส่ตน อันเป็นต้นเหตุให้เสื่อมศรัทธาแก่ผู้ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว และไม่ก่อเกิดศรัทธาแก่ผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน จำเลยทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ต้องตามเจตนารมณ์
ส่วนที่จำเลยที่ ๘๐ ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๘๐มิได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยเนื่องจากจำเลยที่ ๘๐ ได้ลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมเป็นเวลานานถึง ๑๔ ปีแล้ว ไม่เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น จำเลยที่ ๘๐ กับพวกปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดจึงถูกกลั่นแกล้งและการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแตกต่างกันทำให้ไม่อาจร่วมทำสังฆกรรมกันได้ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๘๐ กับพวกจึงได้ประกาศขอลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม แล้วแยกตัวมาตั้งพุทธสถานสันติอโศกที่คลองกุ่มและที่อื่น ๆ ดำเนินการบวชบุคคลอื่นเป็นพระภิกษุโดยวางกฎระเบียบต่าง ๆ และพยายามปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย ไม่จำต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๘๐ ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกายเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ และในปี ๒๕๑๖ ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ ๘๐ ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ ๘๐ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใคร อย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๑๘ บัญญัติให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้ การประกาศของจำเลยที่ ๘๐กับพวกดังกล่าว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ ๘๐ กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถร-สมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้
พิพากษายืน.