คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3691/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครโจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท จึงเป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็น 58,788 บาท แต่ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 หมายถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร มิใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ทั้งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันฟ้องก็ไม่อาจนำมารวมคิดเป็นทุนทรัพย์ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของป้ายและไม่มีสิทธิรื้อถอนป้ายเพราะป้ายตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วตามสัญญา อีกทั้งโจทก์ได้ให้สิทธิบริษัทอื่นใช้ป้ายโฆษณาไปแล้ว เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีป้าย จำเลยให้การว่าจำเลยได้สิทธิในการดูแลศาลาที่พักผู้โดยสารรวมถึงป้ายโฆษณาจากโจทก์ แต่ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญา และได้ทำสัญญาให้สิทธิแก่บริษัท จ. บริษัทดังกล่าวได้เข้าหาผลประโยชน์ในป้ายที่ติดอยู่ จำเลยมิได้เกี่ยวข้องในป้ายโฆษณาแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 12 กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้าย แต่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายโดยยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ก่อน และคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ในการประเมินและจัดเก็บภาษีป้าย ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าและธุรกิจบริการต่าง ๆ และเป็นเจ้าของป้ายโฆษณา จำนวน 11 ป้าย ซึ่งติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยติดตั้งไว้เพื่อโฆษณาและหารายได้จากการประกอบกิจการค้าและบริการของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ประจำปี 2544 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีป้ายทั้ง 11 ป้ายของจำเลย ซึ่งเจ้าพนักงานของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีป้ายสำหรับป้ายดังกล่าวแล้ว คิดเป็นเงินภาษีป้ายประจำปี 2544 ทั้งสิ้น 41,400 บาท หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว และภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมิน จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือโต้แย้งการประเมินและมิได้นำเงินค่าภาษีป้ายไปชำระแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจำนวนเงินค่าภาษีดังกล่าวจึงเป็นภาษีค้างชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือนของเงินภาษีป้ายที่ค้างชำระจำนวน 41,400 บาท นับแต่วันที่ครบกำหนด 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2544 ถึงวันฟ้อง คิดเป็นเงินเพิ่ม 8,280 บาท รวมเป็นเงินเพิ่มและเงินค่าภาษีป้ายถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 49,680 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 49,680 บาท กับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีป้ายที่ค้างจำนวน 41,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้สิทธิในการดูแลและบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรวมถึงป้ายโฆษณาจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 สำนักงานจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาการให้สิทธิดังกล่าวแก่จำเลย ต่อจากนั้นโจทก์ได้ทำสัญญาให้สิทธิดูแลรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางซึ่งรวมถึงป้ายโฆษณาตามฟ้องแก่บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 และบริษัทดังกล่าได้เข้าหาผลประโยชน์ในป้ายที่ติดอยู่ ณ ศาลาที่พักผู้โดยสารแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีป้ายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มตามฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 49,680 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีป้ายที่ค้างชำระจำนวน 41,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยได้สิทธิในการดูแลและบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตามสัญญาฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2541 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 โดยจำเลยได้ผลประโยชน์จากการติดป้ายโฆษณา 11 ป้าย ตามฟ้องเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาการให้สิทธิดูแลและบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารแก่จำเลย และโจทก์ได้ทำสัญญาให้บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิดูแลและบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางแทนจำเลยนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2544 คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท จึงเป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นจำนวน 58,788 บาท ก็ตาม แต่ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 หมายถึง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร หาใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ ทั้งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันฟ้องก็ไม่อาจนำมารวมคิดเป็นทุนทรัพย์ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของป้ายและไม่มีสิทธิรื้อถอนป้ายเพราะป้ายตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วตามสัญญาอีกทั้งโจทก์ได้ให้สิทธิบริษัทอื่นใช้ป้ายโฆษณาไปแล้วเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยต้องชำระค่าภาษีป้ายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในกรณีที่คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๘ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีป้าย จำเลยให้การว่าจำเลยได้สิทธิในการดูแลศาลาที่พักผู้โดยสารรวมถึงป้ายโฆษณาจากโจทก์ แต่ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และได้ทำสัญญาให้สิทธิแก่บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทดังกล่าวได้เข้าหาผลประโยชน์ในป้ายที่ติดอยู่ ณ ศาลาที่พักผู้โดยสารแล้ว คดีไม่มีการสืบพยานโดยคู่ความต่างรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และได้ทำสัญญาให้สิทธิแก่บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้ว ปรากฏตามสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 250 หลัง เอกสารหมาย ล.2 ตามคำคู่ความและคำแถลงที่คู่ความรับกันได้ความว่าจำเลยมิได้เกี่ยวข้องในป้ายโฆษณาเนื่องจากโจทก์บอกเลิกสัญญาและมีบริษัทอื่นเข้าหาผลประโยชน์จากป้ายดังกล่าวตามกำหนดที่โจทก์ให้สิทธิไปแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 12 กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้าย แต่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายโดยยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ก่อน และคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาในปัญหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่แล้วพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share