คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยหลอกลวงขอซื้อสร้อยคอทองคำจากผู้เสียหายโดยนำเงินของกลางออกมาแสดงให้ผู้เสียหายดูแล้วนำไปซุกซ่อนไว้ที่อื่นและบอกผู้เสียหายว่าได้ชำระค่าสร้อยคอทองคำให้แล้วนั้นการแสดงเงินของกลางให้ผู้เสียหายดู ไม่เกี่ยวกับการกล่าวเท็จว่าได้ชำระเงินให้แล้ว ฉะนั้นเงินของกลางดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,80, 33 และริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี กับให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ภายในกำหนด 1 ปี ของกลางเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด จึงให้คืนเจ้าของโจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบเงินสด 5,500 บาทของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาว่าเพื่อที่จะให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือสร้อยคอทองคำ 1 เส้น จากผู้เสียหาย จำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยได้ชำระเงิน 5,470 บาท ซึ่งเป็นราคาสร้อยคอทองคำที่ตกลงซื้อจากผู้เสียหายแล้ว โดยปกปิดข้อความจริงว่าเงินจำนวน 5,500 บาท ที่นำออกให้นายสมชาติ แซ่ลี้ ดูแต่แรกไม่อยู่ที่จำเลยเพื่อจะให้การกระทำของจำเลยเป็นผลสำเร็จ และเพื่อที่จะให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ จำเลยได้ใช้เงินสดจำนวน 5,500 บาท ออกแสดงรวมทั้งเอาออกจากกระเป๋าไปซุกซ่อนไว้ที่อื่น เงินของกลางดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงคลาดเคลื่อนนั้น องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งการกระทำของจำเลยก็เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้จนถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ปัญหาในชั้นนี้คงมีว่าเงินจำนวน 5,500 บาทที่จำเลยนำออกมาแสดงแล้วเก็บไว้เสียโดยบอกผู้เสียหายว่าชำระค่าสร้อยคอทองคำให้แล้วจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด เห็นว่า คดีนี้ความผิดอยู่ที่การกล่าวว่าชำระเงินค่าสร้อยให้แล้ว ไม่จำเป็นต้องแสดงเงินสดให้ผู้เสียหายดูแต่อย่างใดแม้ไม่แสดงเงินสด 5,500 บาท ให้ผู้เสียหายดู การกระทำผิดฐานฉ้อโกงก็อาจครบองค์ประกอบความผิดได้อยู่แล้ว การแสดงเงินสดให้ผู้เสียหายดูไม่เกี่ยวกับการกล่าวเท็จว่าชำระเงินให้แล้ว เพราะเป็นคนละตอนกัน ฉะนั้นเงินสดดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไม่ริบเงินสดของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share